ปลูกถ่ายไขกระดูก ทางเลือกรักษามะเร็งโลหิต
โรคมะเร็งเป็นโรคที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน หากพูดถึงมะเร็งโลหิตหรือมะเร็งในระบบเลือดจะมี 3 โรคใหญ่ ๆ ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งไขกระดูก โดยพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกายคนเรา แม้ร่างกายจะมีกระบวนการจัดการความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ถ้าวันใดเกิดความไม่สมดุลในร่างกาย เช่น วิตกกังวล การติดเชื้อ การได้รับสารเคมีบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เสียสมดุลของกลไกทางภูมิคุ้มกัน เซลล์ที่ผิดปกติจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและควบคุมไม่อยู่จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
ในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็งโลหิตเพิ่มจำนวนขึ้น จากสถิติของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 – 2555 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวม 463 ราย ซึ่งมีอัตราตัวเลขคนไข้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณ 15 – 20% ผู้ป่วยโรคมะเร็งไขกระดูก รวม 53 ราย ส่วนผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว รวม 138 ราย ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี
ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หรือที่เรียกว่า การปลูกถ่ายไขกระดูก ถือเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่จะสามารถรักษาผู้ป่วยโรคทางมะเร็งโลหิตให้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพ หรือมีโอกาสหายขาดได้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้และประสบการณ์ในการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์มากที่สุด จึงเกิดเป็นความร่วมมือของโรงพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชน และสถาบันมะเร็งที่มีชื่อเสียงและความชำนาญในระดับโลกเกิดขึ้น โดยความร่วมมือครั้งนี้โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ โรงพยาบาลศิริราช และ The University of Texas MD Anderson Cancer Center ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ในระดับภาควิชาและผู้ปฏิบัติงานในหัวข้อวิธีการรักษาโดยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด “Hematopoietic Transplantation” ที่จะสามารถทำให้แพทย์และพยาบาล รวมถึงบุคลากรวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ของทั้ง 3 องค์กรทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการรักษาผู้ป่วย เทคโนโลยี แลกเปลี่ยนข้อมูลของโรค การส่งทีมบุคลากรทางการแพทย์ไปศึกษางาน ข้อมูลเรื่องยา วิธีการรักษาใหม่ ๆ และการวิจัยร่วมกัน เป็นต้น
มะเร็งโลหิต
ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์โลหิตวิทยา โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ เล่าถึงมะเร็งโลหิตทั้ง 3 โรค ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งไขกระดูกมัลติเพิล มัยอิโลมา และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ Lymphoma จัดเป็นมะเร็งทางโลหิตที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทยและในโลก ติดอันดับ 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชายไทย สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น เกิดจากความผิดปกติในต่อมน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อลิมฟอยด์ต่าง ๆ แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non – Hodgkin lymphoma (NHL)
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin disease (HD)
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งสองชนิดจะมีอาการคล้ายกัน คือ มีต่อมน้ำเหลืองโตเป็นหลัก แต่ NHL อาจเกิดก้อนโตที่อวัยวะอื่น ๆ ได้บ่อยกว่า เช่น ที่ลำไส้ ปอด สมอง เป็นต้น
“ในประเทศไทยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบส่วนใหญ่จะเป็นชนิด NHL ซึ่งสามารถแบ่งได้มากกว่า 30 ชนิดย่อย แต่ละชนิดจะใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป จึงมีความจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมอย่างละเอียดเพื่อให้ทราบถึงชนิดที่แท้จริงของมะเร็ง อันจะนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป”
หากไม่ได้รับการรักษาแต่ต้น มะเร็งจะแพร่กระจายไปสู่ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และมีผลทำให้การทำงานของร่างกายล้มเหลวถึงแก่ชีวิตได้ ภูมิคุ้มกันลดลง ระบบป้องกันโรค และป้องกันการติดเชื้อลดประสิทธิภาพลง ร่วมกับการมีอาการผิดปกติข้างเคียงอื่น ๆ
สำหรับวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น คือ การคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ โดยไม่รู้สึกเจ็บ แต่จะค่อย ๆ โตเป็นกลุ่ม มีขนาดใหญ่ขึ้น ผู้ป่วยจะมีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน และน้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน อาจมีตับหรือม้ามโตจากมะเร็งที่ไปแทรกในอวัยวะทั้งสอง ต่อมน้ำเหลืองที่เป็นมะเร็งจะโตเร็วมาก อาจเกิดแตกเป็นแผลและมีเลือดออกได้
ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ และขาหนีบ เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาแต่ต้น มะเร็งจะแพร่กระจายไปสู่ระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และมีผลทำให้การทำงานของร่างกายล้มเหลวถึงแก่ชีวิตได้ ภูมิคุ้มกันลดลง ระบบป้องกันโรค และป้องกันการติดเชื้อลดประสิทธิภาพลงไป
มะเร็งไขกระดูกมัลติเพิล มัยอิโลมา
มะเร็งไขกระดูกมัลติเพิล มัยอิโลมา (Multiple Myeloma – MM) เป็นโรคมะเร็งทางระบบโลหิตอีกชนิดหนึ่งที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของพลาสมาเซลล์ในไขกระดูก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตของเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ โรคนี้พบบ่อยในคนอายุระหว่าง 40 – 70 ปี หรือ อายุเฉลี่ย 60 ปี
จากอดีตจนถึงปัจจุบันองค์ความรู้ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคมะเร็งไขกระดูกมัลติเพิล มัยอิโลมาอย่างแน่ชัด ทำให้การป้องกันและรักษาโรคเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ผลจากการศึกษาพฤติกรรมของโรคอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีสมมติฐานบางอย่างที่บ่งบอกว่าอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสบางชนิด รวมถึงสิ่งแวดล้อมบางอย่าง เช่น การทำอาชีพเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมี
สำหรับอาการของโรคนี้สามารถสังเกตได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากในระยะเริ่มต้นของโรคมักไม่มีอาการแสดง หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น อาการอ่อนเพลียซึ่งไม่จำเพาะเจาะจง แต่เมื่อมาถึงระยะท้ายของโรค อาการที่พบ คือ ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ติดเชื้อได้ง่าย
วิธีการรักษาโรคมะเร็งไขกระดูกมัลติเพิล มัยอิโลมาต้องพิจารณาหลายปัจจัย เนื่องจากผู้ป่วยมักเป็นผู้สูงอายุ และอาจมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย เช่น การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือยากลุ่มใหม่ต่าง ๆ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด การฉายรังสี และการรักษาแบบประคับประคองตามความเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุด
มะเร็งเม็ดเลือดขาว
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ Leukemia เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของตัวอ่อนเม็ดเลือดขาว โดยมีการเพิ่มจำนวนอย่างไม่มีขีดจำกัด ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวจำนวนมากเกินไปจนเป็นอันตราย หลายคนรู้จัก และเชื่อว่าเป็นโรคมะเร็งร้ายแรง รวมทั้งอยู่ค่อนข้างไกลตัว แต่ความจริงแล้วโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อย และปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มากขึ้น
มะเร็งเม็ดเลือดขาว แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง ซึ่งชนิดเฉียบพลัน คือเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเป็นตัวแก่ได้ จนไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดปกติในไขกระดูก ทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และเม็ดเลือดขาวปกติน้อยลง เมื่อเม็ดเลือดแดงน้อยลงก็ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ส่วนเม็ดเลือดขาวเมื่อน้อยลงก็เกิดการติดเชื้อ และเกล็ดเลือดมีน้อยก็ทำให้เลือดออกง่าย สำหรับชนิดเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีจำนวนเม็ดเลือดขาวในเลือดสูง และเพิ่มจำนวนขึ้นมากทำให้ไปอยู่ที่ต่อมน้ำเหลือง ทำให้มีต่อมน้ำเหลืองโตหรือมีม้ามโต
อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาการแพทย์ในปัจจุบัน โดยมีแนวทางในการรักษา 3 วิธี คือ
- การให้ยาเคมีบำบัด
- การให้ยาในกลุ่ม Tyrosine Kinase Inhibitor
- การปลูกถ่ายไขกระดูก ถือเป็นวิธีรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำไขกระดูกของพี่น้องพ่อแม่เดียวกันที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันมาช่วยทำให้มะเร็งหายขาดได้
“การปลูกถ่ายไขกระดูกในปัจจุบันสามารถจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งโลหิตหายขาด หรือมีชีวิตที่ยืนยาวแบบปลอดโรค ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาศักยภาพการรักษา รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ เรียนรู้และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้ป่วยแต่ละคนและต่อวงการแพทย์ไทยโดยรวม”
การปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นการแทนที่เซลล์ที่ไม่แข็งแรงหรือเซลล์ที่ผิดปกติในไขกระดูกด้วยเซลล์ต้นกำเนิดที่แข็งแรงและปกติ เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดสามารถเก็บได้จาก 3 แหล่งในร่างกายมนุษย์ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจึงมักถูกเรียกเป็นการปลูกถ่ายไขกระดูก การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากกระแสเลือด และการปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ปกติสามารถหาได้จากผู้บริจาค ซึ่งอาจจะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรืออาจจะเป็นอาสาสมัครผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ (หรือในบางกรณีของโรคมะเร็ง อาจใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตัวผู้ป่วยเอง)
เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนั้นจะถูกนำมาให้ผู้ป่วย (ผู้รับ) ทางสายสวนหลอดเลือดดำ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการเตรียมการโดยการรับยาเคมีบำบัดขนาดสูงแล้ว (บางกรณีใช้การฉายรังสีรักษาทั่วตัวร่วมด้วย) โดยเซลล์ต้นกำเนิดจะเจริญเติบโต เพิ่มจำนวน และพัฒนาไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ที่แข็งแรงในที่สุด