มะเร็งเต้านม
ข้อเท็จจริงของมะเร็งเต้านม
- มะเร็งเต้านมคือมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ 37 ของมะเร็งทั้งหมด และยังมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด ดังนั้นการดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมและการค้นพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกในขณะที่ก้อนมีขนาดเล็กและก้อนมะเร็งยังอยู่เฉพาะที่เต้านม ยังไม่แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยให้มีโอกาสหายขาดมากขึ้นเมื่อเทียบกับการตรวจพบก้อนมะเร็งที่มีขนาดใหญ่หรือกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว
- หากมีการตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น มีโอกาสที่จะมีชีวิตเกิน 5 ปีถึงร้อยละ 98 ถ้าตรวจเจอตอนก้อนมะเร็งกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว มีโอกาสที่จะมีชีวิตเกิน 5 ปี จะลดลงเป็นร้อยละ 84 และถ้าตรวจเจอตอนมะเร็งแพร่กระจายไปแล้ว โอกาสที่จะมีชีวิตเกิน 5 ปี มีเพียงร้อยละ 23 ดังนั้นถ้ามะเร็งยังไม่แพร่กระจายจะทำให้มีโอกาสรอดชีวิตสูง
- เต้านมของคนเราประกอบไปด้วยไขมัน เนื้อเยื่อ ต่อมน้ำนมประมาณ 15 – 20 กลีบ ภายในกลีบประกอบด้วยกลีบย่อยและมีถุงติดอยู่กับท่อน้ำนม ซึ่งจะเปิดยังหัวนม ภายในเต้านมยังมีหลอดเลือดและน้ำเหลือง ซึ่งจะไปรวมกันยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
- Ductal Carcinoma in Situ คือ มะเร็งเต้านมที่เกิดในท่อน้ำนมชนิดไม่ลุกลาม หรือ DCIS เป็นภาวะที่เซลล์เติบโตมากผิดปกติในเยื่อบุท่อน้ำนม หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็วอาจแพร่กระจายหรือลุกลามได้ ส่วน Invasive Ductal Carcinoma คือ มะเร็งเต้านมชนิดลุกลามออกนอกท่อน้ำนม หรือ IDC เป็นภาวะที่เซลล์ผิดปกติเริ่มออกจากท่อน้ำนมเกิดการแพร่กระจายและลุกลามไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียงและอาจลุกลามหรือไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่นๆ
- เต้านมเปลี่ยนแปลงตามอายุและตามรอบประจำเดือน การหมั่นคลำเต้านมตัวเอง จะทำให้รู้ลักษณะปกติของเต้านม สามารถพบการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่เต้านมตั้งแต่แรก
- ลักษณะเต้านมในแต่ละช่วงเวลาของรอบเดือนจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน ช่วงก่อนมีรอบเดือนเต้านมจะตึงและคัด เมื่อคลำจะรู้สึกตึง คลำได้ต่อมน้ำนม แต่หลังจากประจำเดือนมาแล้วเต้านมจะนิ่มขึ้น ส่วนเต้านมในวัยทองจะเหลวนิ่ม เนื่องจากต่อมน้ำนมไม่ทำงาน จึงทำให้เต้านมฝ่อนิ่มลง สำหรับผู้ที่ตัดมดลูกโดยที่ไม่ได้ตัดรังไข่ เต้านมจะยังเหมือนเดิม
สาเหตุมะเร็งเต้านม
แม้ไม่พบสาเหตุมะเร็งเต้านมที่แน่ชัด แต่โรคมะเร็งเต้านมเกิดจากเซลล์ในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมผิดปกติจนควบคุมไม่ได้แล้วเกิดการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะใกล้เคียง อย่างไหปลาร้า ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ รวมถึงแพร่ไปยังกระดูก ตับ ปอด สมองได้ด้วย
อาการมะเร็งเต้านม
อาการที่เป็นสัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม มีวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของมะเร็งเต้านมที่ควรมาพบแพทย์ ได้แก่
- คลำได้ก้อนที่เต้านมหรือใต้รักแร้
- เต้านมผิดรูปหรือหัวนมผิดตำแหน่ง เช่น ยุบลงไปหรือถูกดึงรั้งไปทางอื่น
- มีแผลเรื้อรังบริเวณเต้านม
- มีผื่นหรือแผลบริเวณหัวนม
- มีเลือดหรือน้ำที่ไม่ใช่น้ำนมออกมาจากหัวนม
- ปวดอึดอัดบริเวณเต้านม
ส่วนผู้ที่เริ่มมีอาการของคนเป็นมะเร็งเต้านมมากและมีการแพร่กระจายของมะเร็งจะมีอาการ
- ปวดกระดูก
- น้ำหนักลด
- แผลที่ผิวหนัง
- แขนบวม
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม
- มีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย
- ไม่มีบุตร
- คลอดลูกคนแรกในขณะที่มีอายุมาก
- เคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือเนื้องอกที่เต้านมบางชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็ง
- มีประวัติญาติสายตรง (แม่ พี่ น้อง) เป็นมะเร็งเต้านม
- มีการให้รังสีรักษาที่เต้านมหรือทรวงอก
- ทำแมมโมแกรมแล้วพบความผิดปกติ
- กินฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสเตอโรนติดต่อกันเป็นระยะเวลานานโดยเฉาะมากกว่า 10 ปี
- อ้วน
อายุเท่าไรเสี่ยงมะเร็งเต้านม
ส่วนใหญ่มะเร็งเต้านมพบในผู้หญิงอายุ 45 – 50 ปี แต่ในผู้หญิงที่มีประวัติคนใกล้ชิดในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้น อาจพบมะเร็งเต้านมได้ในอายุที่น้อยลง (< 45 ปี) ซึ่งการมีก้อนที่เต้านมไม่ใช่มะเร็งเสมอไป สิ่งสำคัญคือหากคลำเจอก้อนที่เต้านมควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด
ตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
วิธีตรวจมะเร็งเต้านมมีหลายวิธี ได้แก่
- การตรวจเต้านมด้วยเครื่องดิจิทัลแมมโมแกรม (Mammography) คือ วิธีที่ดีที่สุดในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิง โดยใช้เทคโนโลยีการตรวจทางรังสีพิเศษช่วยให้พบมะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่ม มีความละเอียดสูง ระบุตำแหน่งชัดเจน ทราบผลการตรวจที่ถูกต้อง
- การตรวจมะเร็งเต้านมโดยแพทย์เฉพาะทางหรือหรือพยาบาลที่มีความชำนาญ
- การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปี และตรวจเป็นประจำทุกเดือน โดยตรวจหลังหมดประจำเดือนประมาณ 1 สัปดาห์ หากพบความผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที
บำบัดรักษามะเร็งเต้านม
การรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค
- การผ่าตัดมะเร็งเต้านม (Surgery) ส่วนใหญ่ใช้รักษาผู้ป่วยในระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจายโดยการตัดเต้านมทิ้งเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง ซึ่งปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบสงวนเต้าที่ช่วยเก็บเต้านมไว้มากที่สุด หรือสามารถศัลยกรรมเสริมสร้างเต้านมใหม่ด้วยผิวหนังและไขมันของผู้ป่วยเอง หรือถุงซิลิโคนเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์เป็นสำคัญ
- รังสีรักษาบำบัด (Radiation Therapy) เป็นวิธีรักษามะเร็งเต้านมที่สามารถรักษาผู้ป่วยที่ผ่าตัดสงวนเต้านม มีก้อนขนาดใหญ่ หรือมีการแพร่กระจายไปต่อน้ำเหลือง ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสามารถลดปริมาณรังสีที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย ลดความกังวลใจของผู้ป่วย
- ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ใช้ยารักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 – ระยะที่ 3 เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งในกระแสเลือดและป้องกันการแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย มีทั้งการให้ยาเคมีบำบัดทั้งก่อนและหลังผ่าตัด หรือในระยะที่ 4 ระยะแพร่กระจาย เพื่อให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตที่ยาวนานที่สุด
- ฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy) โดยใช้ยาต้านฮอร์โมนเพื่อลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมน
โปรเจสเตอโรนของผู้หญิงที่เข้าไปกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม - การรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) เน้นการลดความทุกข์ทางร่างกายและจิตใจ มักใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้า นมระยะสุดท้ายหรือใช้คู่กับการรักษาหลักของโรคมะเร็งดูแลผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยตั้งแต่ได้รับผลการตรวจวินิจฉัยไปจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต
ป้องกันมะเร็งเต้านม
แม้สาเหตุของมะเร็งเต้านมยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่การปฏิบัติตัวที่ดีจะช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผักหรือผลไม้
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์และอ้วน
- ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที
- งดสูบบุหรี่
- งดดื่มแอลกอฮอล์
โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษามะเร็งเต้านมที่ไหนดี
ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัย แพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญและมากด้วยประสบการณ์ พร้อมให้การตรวจเช็กมะเร็งเต้านมและเลือกวิธีรักษามะเร็งเต้านมที่เหมาะกับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยในแต่ละบุคคล ตลอดจนมีทีมสหสาขาคอยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง
แพทย์ที่ชำนาญการรักษามะเร็งเต้านม
นพ.สาธิต ศรีมันทยามาศ ผู้อำนวยการศูนย์เต้านมโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพวัฒโนสถ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
แพ็กเกจผ่าตัดมะเร็งเต้านม แพ็กเกจผ่าตัดมะเร็งเต้านม ราคาเริ่มต้นที่ 117,000 บาท คลิกที่นี่ https://www.wattanosothcancerhospital.com/packages-promotions/cancer-surgery-packages
แพ็กเกจผ่าตัดมะเร็งเต้านม ราคาเริ่มต้นที่ 117,000 บาท
สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
ชั้น 3 โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
โทร. 00 2755 1188 (สายด่วนมะเร็ง 8:00 น. – 20:00 น.)
0 2310 3000 (หลัง 20:00 น.)
02 310 3016
1719