มะเร็งต่อมลูกหมาก

ข้อเท็จจริง

  • ต่อมลูกหมาก (Prostate Gland) เป็นอวัยวะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์และระบบปัสสาวะชาย ทำหน้าที่ผลิตน้ำหล่อลื่น (Seminal Fluid) ที่อยู่ในน้ำอสุจิ (Semen)
  • ต่อมลูกหมากตั้งอยู่ที่ฐานของกระเพาะปัสสาวะ (ฺBladder) ตัวต่อมแบ่งเป็นสองซีก (Lobe) มีท่อปัสสาวะ (Urethra) อยู่ตรงกลาง ดังรูป

รูปที่ 1 Anatomy of Prostate Gland

  • จากสถิติในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในปี ค.ศ. 2014 คาดว่าจะพบผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่จำนวนถึง 233,000 คน คิดเป็นร้อยละ 24 ของมะเร็งทั้งหมด อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด โดยจำนวนผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่เสียชีวิตในปี ค.ศ. 2014 เท่ากับ 29,480 คน อัตราการเสียชีวิตของมะเร็งต่อมลูกหมากที่น้อยกว่า อาจเนื่องด้วยเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากมีการกระจายตัวช้ากว่า รวมทั้งการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากที่ทำให้วินิจฉัยมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น

อาการ

มะเร็งต่อมลูกหมากพบบ่อยในชายอายุเฉลี่ยประมาณ 70 ปี ผู้ป่วยมักมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการ

  • ปัสสาวะติดขัด
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • ปัสสาวะมีเลือดปน
  • เร่งปัสสาวะจะมีอาการเจ็บเกิดขึ้น

*ดังนั้นหากมีอาการดังต่อไปนี้รีบปรึกษาแพทย์อย่ารอช้า

การวินิจฉัยโรค

  • ปัจจุบันสามารถตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากได้เร็วขึ้นจากการตรวจคัดกรองด้วยการใช้นิ้วคลำทางทวารและการตรวจหาสาร PSA ในเลือด โดยแนะนำให้ตรวจในผู้ชายอายุประมาณ 45 – 50 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุน้อย


รูปที่ 2 Digital Rectal Examination

  • การนำชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมากออกมาตรวจทางพยาธิวิทยามีความสำคัญมาก เพื่อวินิจฉัยและเป็นปัจจัยในการพิจารณาการรักษาพบว่า เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากประมาณ 95% เป็นชนิด Adenocarcinoma
  • หลังจากวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย ควรมีการส่งการตรวจอื่น ๆ เพื่อประเมินการลุกลามหรือระยะของโรค ได้แก่ การตรวจต่อมลูกหมากด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) การตรวจกระดูกด้วย Bone Scan การตรวจปอดด้วยภาพ X-Ray การตรวจระดับ PSA ในกระแสเลือด ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยด้วย

รูปที่ 3 MRI of Prostate Cancer

การรักษาโรค

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากประกอบด้วย

  • การรักษาด้วยการผ่าตัด
  • การรักษาด้วยรังสี (Radiotherapy)
  • การรักษาด้วยฮอร์โมน (Hormonal Therapy)
  • การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)

ทั้งนี้การเลือกการรักษาขึ้นกับระยะของโรค (Staging) และปัจจัยเสี่ยง (Risk Factor) ต่าง ๆ

  • ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำ (Low Risk Group) การรักษาที่เหมาะสมจะเป็นการรักษาเฉพาะที่ (Local Treatment) ได้แก่ การผ่าตัดต่อมลูกหมาก (Radical Prostatectomy) หรือการใช้รังสีรักษาเฉพาะที่ต่อมลูกหมาก ซึ่งอาจจะเป็นการฉายรังสี (External Beam Irradiation) หรือการฝังแร่ (Brachytherapy)
  • กรณีโรคลุกลามมากขึ้นและมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้นจนอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง (Moderate Risk Group) หรือกลุ่มความเสี่ยงสูง (High Risk Group) นอกจากการรักษาเฉพาะที่บริเวณต่อมลูกหมากแล้ว อาจต้องพิจารณาการรักษาในบริเวณข้างเคียง (Regional Treatment) หรือการรักษาทั้งระบบ (Systemic Treatment) ร่วมด้วย
  • การรักษาบริเวณข้างเคียง ได้แก่ การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองในบริเวณอุ้งเชิงกราน (Pelvic Lymph Node Dissection) หรือการฉายรังสีคลุมบริเวณอุ้งเชิงกราน (Pelvic Lymph Node Irradiation)
  • การรักษาทั้งระบบ ได้แก่ การรักษาด้วยการลดฮอร์โมนเพศชาย (Androgen Deprivation Therapy) หรือการใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)

รูปที่ 4 Linear Accelerator for VMAT and IMRT

รูปที่ 5 VMAT in Prostate Cancer

  • ในกรณีที่โรคมะเร็งต่อมลูกหมากลุกลามมาก มีการกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ หรือตัวผู้ป่วยมีสภาพร่างกายทั่วไปไม่แข็งแรง มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้ง่าย แนวทางการรักษาจะเน้นพิจารณาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นหลัก และขึ้นอยู่กับสภาวะของโรค อาการ และความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว หรือเรียกว่าการดูแลเพื่อบรรเทาอาการ (Palliative Care)
  • การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากควรเป็นการดูแลผู้ป่วยร่วมกันเป็นทีม ระหว่างทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์สาขาต่าง ๆ เพื่อพิจารณาแนวทางการรักษาให้รอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวเป็นสำคัญ

 

“โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ เป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยเฉพาะ มีบริการครบวงจร ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง การวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น (Screening and Early Detection Program) การรักษาโรคมะเร็งด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย (Hi End Technology) และทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ (Multidisciplinary Team) และการดูแลบรรเทาอาการผู้ป่วยแบบครบองค์รวมที่เน้นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว (Palliative Care Team)

ผู้เขียน

นพ.ชนวัธน์ เทศะวิบุล แพทย์รังสีรักษา โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ