ข้อเท็จจริง

  • จากข้อมูลทางสถิติในอดีตจนถึงปี 2018 พบว่า โรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มมะเร็งทั้งหมดและยังเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตที่สูงที่สุดของมะเร็งทุกชนิด เนื่องจากเวลาที่ตรวจพบโรค ผู้ป่วยจำนวนมากจะอยู่ในระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ๆ แล้ว

การตรวจวินิจฉัย

  • มีการศึกษามากมายในอดีตเกี่ยวกับการ “คัดกรองมะเร็งปอด” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เสมหะหาเซลล์มะเร็ง (Sputum Cytology)  และเอกซเรย์ปอด (Chest X-Ray) แต่จากการศึกษาเหล่านั้นไม่สามารถแสดงถึงการช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้จากการคัดกรองด้วยวิธีดังกล่าว เนื่องจากเอกซเรย์ปอดนั้นไม่สามารถค้นพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่เป็นก้อนทึบ (Subsolid Nodule/Ground Glass Nodule) เพราะความละเอียดไม่เพียงพอ ดังนั้นถึงแม้ว่าตรวจเอกซเรย์ปอดแล้วไม่เจอจุดในปอด (Lung Nodule) แพทย์จึงไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่า ไม่มีมะเร็งปอด ในทางกลับกันอาจทำให้ผู้รับการตรวจเข้าใจผิดไปว่าตนเองไม่มีโรคมะเร็งปอด ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียในภายหลังได้
  • มีการศึกษาในปี 2011 มีการตีพิมพ์ผลงานของ National Lung Screening Trial1 (NLST) ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่คัดกรองใน “ประชากรที่มีความเสี่ยงสูง (High Risk Group)” แสดงให้เห็นว่า การใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยใช้รังสีต่ำ (Low Dose CT Chest) เป็นตัวคัดกรอง เมื่อเทียบกับเอกซเรย์ปอด (Chest X-Ray) โดยทำการตรวจปีละครั้ง ผลคือสามารถลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างชัดเจนถึง 20% เนื่องจากผลการศึกษามีความสำคัญทางนัยสถิติมาก
  • ปัจจุบันสมาคมแพทย์ทั่วโลก เช่น NCCN (National Comprehensive Cancer Network)  ASCO (American Society of Clinical Oncology) และ ACCP  (American College of Chest Physicians) ได้แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในประชากรที่มีความเสี่ยงสูง ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยใช้รังสีต่ำ (Low Dose CT Chest)

กลุ่มเสี่ยง

ประชากรที่มีความเสี่ยงสูง (High Risk Group)

ประชากรที่มีความเสี่ยงสูง (High Risk Group) จาก NLST ต้องมีข้อกำหนดทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

  1. อายุ 55 ถึง 74 ปี
  2. กำลังสูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 30 ปีและมากกว่า 1 ซองต่อวัน (หรือเท่ากับ 30 pack-year)** ยกตัวอย่างเช่น
    1. สูบบุหรี่มา 15 ปี เฉลี่ยวันละ 2 ซอง
    2. สูบบุหรี่มา 30 ปี เฉลี่ยวันละ 1 ซอง
    3. สูบบุหรี่มา 20 ปี เฉลี่ยวันละ 1 ซองครึ่ง

** จำนวน pack-year คือ จำนวนปีที่สูบ X จำนวนซองบุหรี่ที่สูบต่อวัน

  1. หยุดสูบบุหรี่มาไม่เกิน 15 ปี

นอกเหนือจากการสูบบุหรี่แล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลจาก NLST เพิ่มเติม2 พบว่ามีตัวแปรอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่

  • อายุ
  • เพศ
  • เชื้อชาติ
  • น้ำหนักและส่วนสูง
  • ระดับการศึกษา
  • ประวัติมะเร็งปอดของครอบครัว ประวัติมะเร็งอื่นของผู้คัดกรอง รวมถึงประวัติการเป็นถุงลมโป่งพอง

 

ประชากรที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงปานกลาง

ประชากรที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงปานกลาง คือ กำลังสูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 20 ปีและมากกว่า 1 ซองต่อวัน (20 pack-year) หรือมีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น มีบุคคลอื่นในครอบครัวสูบ (Second-Hand Smoker) อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ธูป ฝุ่นละอองควัน เป็นต้น ในปัจจุบันยังไม่มีข้อแนะนำให้คัดกรองด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยใช้รังสีต่ำ แต่กำลังมีการศึกษาในประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งทำให้ข้อแนะนำอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

ปัจจัยเสี่ยง

  • ธูป

ควันจากธูปนั้นแตกต่างกับบุหรี่ โดยที่ธูปนั้นเป็นผลกระทบโดยอ้อมคล้ายกับผู้ได้รับบุหรี่มือสอง (Second – Hand Smoker) ส่วนบุหรี่นั้นเป็นการสูบเข้าปอดโดยตรง ทำให้การวัดปริมาณการได้รับทำได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตามมีการศึกษาในประเทศจีน2-6 ในสัตว์ทดลองหรือการเก็บข้อมูลย้อนหลังในประชากรพบว่า การได้รับควันธูปเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีผลกระทบกับเนื้อเยื่อปอดและอาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งในอนาคตได้ ดังนั้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปอด เช่น มีประวัติมะเร็งปอดในครอบครัว เป็นโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีควันจากธูปหนาแน่นหรือใส่หน้ากากที่กรองอนุภาคขนาดเล็กได้

 

  • ฝุ่นละอองควัน 2.5 (PM 2.5)


ฝุ่นละอองควัน (Particulate Matter หรือ PM) 2.5 คือ สสารที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกิดจากควันรถ การเผาไหม้ สถานที่มีการก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งมักพบในเมืองใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น กรุงเทพ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ การวัดความหนาแน่นจะใช้ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index, AQI)  สารเหล่านี้เมื่อเข้าไปในหลอดลมของสิ่งมีชีวิตจะก่อให้เกิดการระคาย ตามด้วยการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด ส่งผลกระทบต่อคนที่มีโรคปอดอักเสบ โรคหัวใจขาดเลือด รวมทั้งโรคมะเร็งปอดได้ โดยมีการศึกษาจำนวนมากจากประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา7-9 พบว่า มีผลต่อการเกิดมะเร็งปอดและการเสียชีวิตจากมะเร็งปอด ดังนั้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในช่วงเวลาที่ PM 2.5 มากกว่าเกณฑ์ในตาราง ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกอาคาร ใช้เครื่องฟอกอากาศ หรือหากจำเป็นต้องออกนอกอาคารต้องใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองควัน


ที่มา : http://aqicn.org/city/bangkok/

 

  • บุหรี่ไฟฟ้า


บุหรี่ไฟฟ้า (Electronic Cigarettes, E – Cigarettes) นั้นมีส่วนประกอบหลักคือ นิโคติน และผสมด้วยตัวทำละลาย (Propylene Glycol) กลิ่น และ รสต่าง มีจุดประสงค์คือ ลดการใช้บุหรี่ที่มีส่วนผสมของสารพิษคือ สารหนู (Arsenic) ตะกั่ว (Lead) และอื่น ๆ อีกมากมาย ยังไม่มีการศึกษาโดยตรงที่ทดสอบการเกิดมะเร็งปอดกับ E – Cigarettes แต่มีการศึกษาว่า การใช้ E – cigarettes ก่อให้เกิดการอักเสบกับทางเดินหายใจได้ ถึงแม้ว่าเมื่อเทียบกับบุหรี่แล้วน้อยกว่ามาก11-12 อย่างไรก็ตามมีความกังวลสำหรับการที่มีผลเสียน้อยกว่าบุหรี่ของ  E – Cigarettes ทำให้ประชากรวัยรุ่นตัดสินใจลองใช้ได้ง่ายขึ้นและนำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นในอนาคต13

การป้องกัน

ห่างไกลมะเร็งปอด ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสการรักษา

American Cancer Society แนะนำให้คนที่สูบบุหรี่หนัก (มากกว่า 30 pack – year) และยังสูบบุหรี่อยู่ หรือผู้ที่เคยสูบบุหรี่แต่เลิกสูบไปแล้วภายใน 15 ปีที่ผ่านมาและมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยใช้รังสีต่ำ (Low Dose CT Chest) เป็นประจำปีละครั้ง

“เพราะการตรวจพบมะเร็งปอดระยะเริ่มแรก นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายแล้วยังสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยในระยะยาวอีกด้วย”