ผู้ป่วยมะเร็งกับการฉีดวัคซีน COVID-19
สำหรับผู้ป่วยมะเร็งภูมิคุ้มกันจะค่อนข้างต่ำกว่าคนทั่วไป หากติดเชื้อโควิด-19 ย่อมมีความเสี่ยงที่อาการจะรุนแรงและร่างกายต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 ได้น้อยลง จึงมีความสำคัญมากที่ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้น
ทำไมผู้ป่วยมะเร็งต้องฉีดวัคซีนโควิด-19
- ภูมิต้านทานต่ำกว่าคนทั่วไป
- หากได้รับเชื้อโควิด-19 อาการจะรุนแรงมากกว่าปกติ
- เชื้อโควิด-19 มีโอกาสอยู่ในร่างกายนานกว่าคนทั่วไป
ผู้ป่วยมะเร็งกับระยะเวลาฉีดวัคซีนโควิด-19
ผู้ป่วยมะเร็งมีหลากหลายกลุ่ม ดังนั้นเพื่อให้การฉีดวัคซีน COVID-19 มีประสิทธิภาพกับผู้ป่วยมะเร็งควรเข้ารับการฉีดให้เหมาะสม ได้แก่
- ผู้ป่วยมะเร็งที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ทันที ได้แก่
- ผู้ป่วยมะเร็งที่ผ่านการวินิจฉัย แต่ยังไม่ได้รับการรักษา
- ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการรักษา อาทิ รับประทานยาและพบแพทย์ทุกเดือน
- ผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาจนหายแล้วและไม่มีประวัติแพ้วัคซีน
- ผู้ป่วยมะเร็งที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด ได้แก่
- ผู้ป่วยมะเร็งที่รับยาฉีด อาทิ ยาเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า ยาฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
- ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับรังสีรักษา
- ผู้ป่วยมะเร็งที่รับการผ่าตัด ควรฉีดวัคซีนก่อนหรือหลังการผ่าตัดประมาณ 2 สัปดาห์ โดยเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์
- ผู้ป่วยมะเร็งที่ปลูกถ่ายไขกระดูกจะต้องเว้นระยะให้ร่างกายฟื้นตัวและไม่มีภาวะแทรกซ้อนปรากฏหลังการรักษาประมาณ 3 เดือนจึงจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้
- ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันที่ได้รับยาเคมีบำบัดทำลายเซลล์ ให้ฉีดวัคซีนเมื่อเม็ดเลือดขาวมีระดับปกติ
ผู้ป่วยมะเร็งกับการเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 6 – 7 ชั่วโมง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอประมาณ 500 – 1,000 ซีซี
- เลี่ยงการดื่มชา กาแฟ
- ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด
- ถ้ามีอาการไข้ไม่สบายให้เลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน
- ไม่ควรกินยาที่ไม่ใช่ยารักษาโรคประจำตัวหรืออาหารเสริมก่อนรับวัคซีน
ผู้ป่วยมะเร็งกับการดูแลหลังฉีดวัคซีนโควิด-19
- หากมีไข้หรือปวดศีรษะรับประทานยาแก้ปวดได้
- หากมีผื่นลมพิษ ไข้สูงมาก หน้ามืด เป็นลม แขนขาอ่อนแรง เจ็บหน้าอกให้พบแพทย์ทันที
- สวมหน้ากาก ล้างมือให้บ่อย รักษาระยะห่างทางสังคม
- ฉีดวัคซีนให้ครบตามนัดหมายทั้ง 2 เข็ม
- หากมีคำถามหรือข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวทันที
ญาติผู้ป่วยมะเร็งกับวัคซีนโควิด-19
ญาติผู้ป่วยมะเร็งควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุด และควรดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือให้บ่อย ไม่อยู่ในที่แออัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้ป่วยมะเร็งแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถฉีดวัคซีนได้ทุกตัว โดยต้องเป็นวัคซีนที่ได้มาตรฐาน ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น