มะเร็งลำไส้ ห่างไกลได้แค่ใส่ใจความเสี่ยง
มะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และจากสถิติล่าสุดพบว่า ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยพบมากขึ้นทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ละเลยการตรวจเช็กโรคนี้ ทำให้มักพบเมื่อป่วยเข้าสู่ระยะท้าย ๆ แล้ว ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดูแลใส่ใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจเช็กตั้งแต่เนิ่น ๆ คือหนทางการป้องกันโรคได้ในระยะยาว
มะเร็งลําไส้ปวดท้องแบบไหน
หากปวดท้องบริเวณช่วงล่าง ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ปวดทวารหนัก ท้องผูกเรื้อรัง ท้องผูกสลับท้องเสีย ท้องอืดท้องเฟ้อบ่อยผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งลำไส้ได้ ทั้งนี้อาการมะเร็งลำไส้จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของก้อนมะเร็ง
7 สัญญาณเตือนมะเร็งลำไส้
อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่
- ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระมีเลือดปน
- ท้องเสียหรือท้องผูกบ่อยผิดปกติ
- ปวดท้องนานโดยไม่รู้สาเหตุ
- ท้องอืดเรื้อรัง
- อาเจียนผิดปกติ
- เหนื่อยหอบ หายใจถี่
- น้ำหนักลดมากผิดปกติ
สาเหตุมะเร็งลำไส้ใหญ่
สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่
- รับประทานเนื้อสัตว์ติดมันและเนื้อแดงในปริมาณมาก
- รับประทานเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง (ไส้กรอก เบคอน แฮม เป็นต้น) ในปริมาณมาก ๆ
- รับประทานผักผลไม้น้อยหรือไม่รับประทานเลย
- ขาดการออกกำลังกาย
- โรคอ้วน
- สูบบุหรี่จัด
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- พันธุกรรม หากเป็นผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ รวมทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้
กลุ่มเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะญาติสายตรงระดับแรก อย่างพ่อ แม่ พี่น้อง บุตร
ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างไร
- ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทวารหนัก หรือ Colonoscopy คือการส่องกล้องตรวจผ่านทางทวารหนักเพื่อดูลักษณะภายในของลำไส้ใหญ่อย่างละเอียดหากพบโพลิปหรือเนื้องอกแพทย์จะตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์โดยการสวนแป้งแบเรียม (Barium Enema)
- ตรวจเลือดเพื่อค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยวัดระดับ Carcinoembryonic Antigen (CEA)
- ตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น เอกซเรย์ทรวงอก, CT Scan, MRI หรือ PET CT-Scan
ระยะของโรคและการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
อาการมะเร็งลําไส้แต่ละระยะแตกต่างกัน หากป่วยเป็นมะเร็งลําไส้ วิธีรักษาจะมีทั้งการผ่าตัด (Surgery) ใช้รังสีรักษา (Radiation Therapy) คีโมบำบัด (Chemotherapy) และการใช้ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ได้แก่
- ระยะที่ 0 (Stage 0) ระยะก่อนมะเร็ง เซลล์มะเร็งจะอยู่บริเวณผนังลำไส้ สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อเข้าไปตัดชิ้นเนื้อออก
- ระยะที่ 1 (Stage I) เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าไปบริเวณผนังกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่แต่ยังไม่แพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองสามารถรักษาได้โดยผ่าตัดผ่านกล้องตามตำแหน่งที่พบในลำไส้
- ระยะที่ 2 (Stage II) เซลล์มะเร็งที่เติบโตผ่านผนังของลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักแล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงหรืออวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย สามารถรักษาได้โดยผ่าตัดผ่านกล้องตามตำแหน่งที่พบในลำไส้และจะมีการตรวจยีน (Genome Testing) เพิ่มเติม เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้
- ระยะที่ 3 (Stage III) เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังบริเวณต่อมน้ำเหลือง สามารถรักษาได้โดยผ่าตัดผ่านกล้องตามตำแหน่งที่พบในลำไส้และต้องมีการตรวจยีน (Genome Testing) ร่วมด้วย หลังผ่าตัดจะมีการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เพิ่มเติม ในกรณีมะเร็งลำไส้ตรงและทวารหนักจะมีการฉายรังสี (Radiotherapy) บริเวณลำไส้และเชิงกรานร่วมด้วย
- ระยะที่ 4 (Stage IV) เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด กระดูก รังไข่ ต้องรักษาเริ่มต้นโดยการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) อาจมีการฉายรังสี (Radiotherapy) ร่วมด้วย หรืออาจมีการรักษาโดยการผ่าตัดก้อนมะเร็งในตำแหน่งที่พบรวมถึงตำแหน่งที่มะเร็งลุกลามไป
ผ่าตัดผ่านกล้องรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery)
ในอดีตการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบแผลเปิด ซึ่งความยาวของแผลอยู่ที่ประมาณ 6 – 12 นิ้ว หรือ 15 – 30 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง นำมาซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery) โดยศัลยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 4 – 5 รู ขนาด 6 – 8 มิลลิเมตร และมีแผลใหญ่สุด 1 รู ขนาดไม่เกิน 4 เซนติเมตร หลังจากนั้นจะมีการใส่เครื่องมือผ่าตัดรวมถึงกล้องขนาดเล็กที่สามารถมองเห็นอวัยวะภายในบนจอมอนิเตอร์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งจำนวนและขนาดของแผลจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง ทั้งนี้ผลการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาได้ดีเทียบเท่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด แต่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรเข้ารับการผ่าตัดตามการวินิจฉัยและคำแนะนำของแพทย์เป็นสำคัญเพื่อผลลัพธ์ที่ดี
ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
- แผลเล็ก
- เสียเลือดลดลง
- เจ็บน้อย
- ฟื้นตัวไว
- ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่แผล
- กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น
วิธีป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะเป็นการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุก ๆ 5 – 10 ปี ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งการตรวจพบติ่งเนื้อที่อาจกลายเป็นมะเร็งในอนาคตและทำการตัดออกได้ทันเวลา จะช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนามะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่หากมีคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ แนะนำให้ตรวจตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไปจะดีที่สุด
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ควรรับประทานเป็นประจำ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- สังเกตความผิดปกติ ถ้าอาการคล้ายมะเร็งลำไส้ควรพบแพทย์ทันที
โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
ศูนย์ศัลยกรรมมะเร็ง ศูนย์อายุรกรรมมะเร็ง ศูนย์รังสีรักษา โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ พร้อมด้วยแพทย์เฉพาะทางมะเร็งที่มีความชำนาญและมากด้วยประสบการณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัย พร้อมให้การตรวจเช็กมะเร็งลำไส้ใหญ่และเลือกวิธีรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เหมาะกับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยในแต่ละบุคคล ตลอดจนมีทีมสหสาขาคอยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดเพื่อให้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง
แพทย์ที่ชำนาญการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
นพ.วุฒิ สุเมธโชติเมธา ศัลยแพทย์ด้านมะเร็งสำไส้ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง
แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ราคาเริ่มต้นที่ 6,500 บาท