CEM ตรวจเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมร่วมกับฉีดสารทึบรังสี

CEM ตรวจเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมร่วมกับฉีดสารทึบรังสี


มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 ในสตรีทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย และถือเป็นภัยเงียบของผู้หญิงเพราะมักมาโดยไม่มีสัญญาณเตือน การตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์แมมโมแกรม (Digital Mammography) ร่วมกับการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงถ่ายภาพเต้านม (Ultrasound) ยังคงเป็นการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นทางรังสีวิทยาของมะเร็งเต้านม แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น มีการตรวจเต้านมที่สามารถได้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัยในเชิงลึกมากขึ้น เช่น การใช้เครื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Breast) และ การตรวจเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมร่วมกับฉีดสารทึบรังสี (Contrast Enhanced Mammography: CEM) 


การตรวจเต้านมแบบ
CEM คืออะไร

การตรวจเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมร่วมกับฉีดสารทึบรังสี (Contrast Enhanced Mammography: CEM) ผ่านการตรวจสอบโดยองค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ ค.. 2011 (Food and Drug Administration Approval) มีผลการศึกษาวิจัยรองรับมากมาย และนำมาใช้แพร่หลายในต่างประเทศมากขึ้นในปัจจุบัน โดยใช้หลักการฉีดสารทึบรังสี (Iodinated Contrast Media) และใช้รังสีเอกซเรย์ (X-ray) จากการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Digital Mammography) โดยใช้เทคนิคเฉพาะแบบสองค่าพลังงาน (Dual Energies) และนำภาพจากทั้งสองค่าพลังงาน (Low Energy, High Energy) ไปประมวลผลสร้างภาพเป็น Recombined Images ที่ทำให้สามารถมองเห็นรอยโรคที่ไวต่อรังสีในเนื้อเยื่อเต้านมที่บ่งชี้ว่าเป็นตำแหน่งที่มีเส้นเลือดไปเลี้ยงผิดปกติหรือมะเร็งเต้านมได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยหลักการคล้ายกับการตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Breast MRI) และมีความถูกต้องชัดเจนมากกว่าเมื่อเทียบกับการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมทั่วไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีเนื้อเต้านมหนาแน่น 

CEM ตรวจเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมร่วมกับฉีดสารทึบรังสี

CEM ตรวจเอกซเรย์เต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมร่วมกับฉีดสารทึบรังสี

ข้อบ่งชี้ในการตรวจเต้านมแบบ CEM

  1. ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเพิ่มเติมในผู้หญิงที่ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมสูง (Screening for High Risk) เช่น  
    • มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ เช่น มารดาและพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน 
    • ตรวจพบยีนในการเกิดมะเร็งเต้านม (BRCA1, BRCA2) 
    • มีประวัติฉายแสงที่บริเวณทรวงอกตั้งแต่อายุ 10 – 30 ปี 
  2. ตรวจคัดกรองเพิ่มเติมในผู้หญิงที่มีประวัติเนื้อเต้านมหนาแน่นจากการตรวจแมมโมแกรมครั้งก่อน (Supplementation Screening for Women with Dense Breast) 
  3. วินิจฉัย (Diagnosis) 
    • ประเมินการวางแผนการรักษาก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม (Pre – Surgical Staging of Known Breast Cancer)
    • เพิ่มความถูกต้องชัดเจนในการวินิจฉัยโรคเต้านมในรายที่ตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์แล้วไม่สามารถระบุรอยโรคได้แน่ชัด มีความซับซ้อนหรือผลการตรวจไม่อธิบายความผิดปกติที่ผู้ป่วยมี (Inconclusive Findings on Diagnostic Work Up) 
  4. ติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Assessment of Tumor Response to Chemotherapy) 
  5. ช่วยในการนำทางเจาะชิ้นเนื้อที่พบความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่ทึบรังสีภายใต้เครื่องแมมโมแกรมเท่านั้น (CEM Guided Biopsy)

ข้อดีของการตรวจเต้านมแบบ CEM

  • เพิ่มความถูกต้องชัดเจนในการตรวจวินิจฉัยหามะเร็งเต้านม 
  • ประเมินการวางแผนก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ลดอัตราการผ่าตัดซ้ำ
  • ลดอัตราการเจาะเต้านมโดยไม่จำเป็น
  • ประหยัดเวลาและราคาถูกกว่าการตรวจเต้านมโดยใช้เครื่อง MRI โดยให้ความถูกต้องใกล้เคียงกัน
  • สามารถใช้ทดแทนในผู้ป่วยที่ไม่สามารถตรวจด้วยเครื่อง MRI ได้ 

ข้อจำกัดของการตรวจเต้านมแบบ CEM

  • ปริมาณรังสีในการตรวจมากกว่าการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมทั่วไป แต่ไม่มากเกินค่ามาตรฐาน 
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้สารทึบรังสีได้    
  • สำหรับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยสูงอายุมากกว่า 60 ปี หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง แนะนำให้ตรวจค่าเลือดดูการทำงานของไต (Creatinine Level) ภายในระยะเวลา 3 เดือนก่อนนัดตรวจ
  • ไม่แนะนำผู้ป่วยที่เสริมเต้านมด้วยซิลิโคน
  • ไม่แนะนำให้สตรีมีครรภ์ตรวจ ยกเว้นอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
  • ผู้ป่วยที่ให้นมบุตรสามารถทำการตรวจได้โดยอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์และสามารถให้นมบุตรหลังการตรวจได้ภายใน 12 – 24 ชั่วโมง

เตรียมตัวก่อนได้รับสารทึบรังสีตรวจ CEM

  • แจ้งประวัติสุขภาพ ได้แก่
    • โรคประจำตัว โดยเฉพาะกลุ่มโรคหอบหืด, ภูมิแพ้, ไทรอยด์เป็นพิษ และโรคไต
    • ยาที่ใช้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะยา Metformin ที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน
    • การแพ้ยาและอาหาร ทั้งนี้การแพ้อาหารทะเลไม่จัดเป็นข้อห้ามในการได้รับสารทึบรังสี  
    • การได้รับสารทึบรังสี
    • ผลข้างเคียงที่เคยเกิดขึ้นจากการตรวจครั้งก่อน 
  • แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อน ซุป และดื่มน้ำก่อนและหลังการตรวจ
  • ห้ามทาโลชั่น, แป้งฝุ่น, น้ำหอม, สเปรย์ระงับกลิ่นตัวที่บริเวณเต้านมและรักแร้ เนื่องจากทำให้ภาพที่ได้มี Artifact ส่งผลต่อการแปลผลของภาพ 
  • หากเคยตรวจแมมโมแกรมมาก่อน ควรนำผลการตรวจภาพแมมโมแกรมเดิมมาเปรียบเทียบดูการเปลี่ยนแปลง
  • หากมีอาการผิดปกติของเต้านมควรแจ้งเจ้าหน้าที่และรังสีแพทย์ที่ทำการตรวจให้ทราบ    

การปฏิบัติตัวระหว่างฉีดสารทึบรังสีตรวจ CEM

  • พยาบาลผู้ดูแลทำการเปิดเส้นเลือดที่แขนหรือมือก่อนฉีดสารทึบรังสีให้กับผู้ป่วยผ่านเครื่องอัตโนมัติ (Injector)                                        
  • ขณะได้รับสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือด ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกไม่สบายตัว ร้อนวูบวาบ หรือคลื่นไส้เล็กน้อย ซึ่งจะเป็นชั่วคราวและหายไปได้เองในเวลาไม่กี่นาที
  • ภายใน 2 นาทีหลังจากผู้ป่วยได้รับการฉีดสารทึบรังสีแล้ว นักเทคนิครังสีการแพทย์จะทำการจัดท่าถ่ายเอกซเรย์แมมโมแกรม โดยใช้เทคนิค Dual Energies ได้ภาพของเต้านมทั้งสองข้างเพื่อให้รังสีแพทย์แปลผล     

ดูแลหลังการตรวจ CEM

  • กรณีที่รังสีแพทย์พบจุดน่าสงสัย อาจมีการถ่ายภาพเอกซเรย์หรือตรวจอัลตราซาวนด์เพิ่มเติม รวมถึงพิจารณาเจาะชิ้นเนื้อในรายที่พบความผิดปกติ
  • หลังจากเสร็จกระบวนการตรวจและได้รับผลการตรวจ พยาบาลจะทำการถอดสายที่เปิดเส้นเลือดไว้เพื่อดูอาการและทำแผลก่อนให้ผู้ป่วยกลับบ้าน

สังเกตอาการแพ้สารทึบรังสี

หากมีอาการแพ้สารทึบรังสีดังต่อไปนี้ควรรีบแจ้งพยาบาลหรือแพทย์ผู้ดูแลเพื่อประเมินอาการผู้ป่วยได้ทันท่วงที

  • อาการแพ้แบบฉับพลัน ปัจจุบันอาการแพ้สารทึบรังสีพบน้อยและมักเป็นอาการแพ้แบบเฉียบพลันเกิดภายใน 1 ชั่วโมง เช่น มีผื่นขึ้นตามตัว, คันตามผิวหนัง, เคืองตา, น้ำมูกไหล ฯลฯ
  • อาการแพ้รุนแรง พบน้อยมากเพียงร้อยละ 0.04 เช่น หน้าหรือตัวบวม, หายใจลำบาก, หัวใจเต้นเร็ว, หอบเหนื่อยมากขึ้น, ความดันโลหิตต่ำ หรือวูบหมดสติ  ฯลฯ

โรงพยาบาลที่ชำนาญการตรวจเต้านม

โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ มีศูนย์เต้านมที่พร้อมด้วยแพทย์เฉพาะทางและเครื่องมือที่ทันสมัย ตลอดจนทีมสหสาขาที่มากด้วยประสบการณ์ พร้อมให้การตรวจเต้านมอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นใจในผลการตรวจ และให้การดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด เพราะมะเร็งเต้านม ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสหายขาด และลดโอกาสเป็นซ้ำในอนาคต 


แพทย์ที่ชำนาญการตรวจเต้านม

พญ.ขวัญสกุล บุญศรารักษพงศ์ รังสีแพทย์ผู้ชำนาญการตรวจภาพวินิจฉัยภาพเต้านม ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


แพ็กเกจตรวจเต้านม

แพ็กเกจตรวจเต้านม ราคาเริ่มต้นที่ 5,500 บาท

คลิกที่นี่

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง