ทำความรู้จักกับเชื้อไวรัส HPV

ทำความรู้จักกับเชื้อไวรัส HPV


HPV คืออะไร มีกี่ประเภท

HPV เป็นเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เชื้อแปปิโลมา หรือเอชพีวี (HPV) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อเนื้อเยื่อบุผิว ส่งผลให้เกิดโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่อันตรายต่อร่างกายมากที่สุดคือ สายพันธุ์ 16 และ 18


ติดง่ายแค่ไหน การแพร่กระจายเชื้อเป็นอย่างไร

การติดเชื้อ HPV มักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก ปาก โดยแพร่เชื้อผ่านรอยแผล หรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง หรือสัมผัสผิวหนัง อีกทั้งสิ่งของปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย ที่น่าเป็นห่วงคือ หญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อ HPV อาจแพร่เชื้อสู่ลูกระหว่างการคลอดได้ ด้วยการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งผู้ที่มีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกายมักไม่มีอาการแสดงใด ๆ  จึงอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว


อาการเมื่อติดเชื้อ HPV เป็นอย่างไร

ผู้ที่ติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ เพราะระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดเชื้อไวรัสได้ก่อนเป็นหูด ซึ่งลักษณะของหูดจะแตกต่างตามสายพันธุ์ไวรัส ได้แก่

  • หูดทั่วไป จะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ที่อาจขึ้นตามมือ นิ้ว ข้อศอก มีสีเนื้อ สีขาว สีชมพู สีน้ำตาลอ่อน บริเวณที่พบคือ มือ นิ้วมือ ข้อศอก แม้ไม่อันตราย แต่อาจทำให้เจ็บปวด โดยผิวหนังที่เกิดหูดอาจมีเลือดออกได้ง่าย
  • หูดแบนราบ จะมีสีเข้มกว่าปกติและนูนขึ้นมาเล็กน้อย มีขนาดเล็ก พื้นเรียบ เกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยผู้หญิงมักพบที่ขา ผู้ชายมักพบที่เครา เด็กมักพบที่ใบหน้า 
  • หูดบริเวณอวัยวะเพศ หรือหูดหงอนไก่ เป็นติ่งเนื้อคล้ายดอกกะหล่ำที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก มักรู้สึกคัน แต่ไม่เจ็บปวด
  • หูดบริเวณฝ่าเท้า มักขึ้นตรงส้นเท้าหรือเนินปลายเท้า มีลักษณะเป็นตุ่มแข็ง ไม่ว่ายืนหรือเดินจะรู้สึกเจ็บ

กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ HPV คือใคร

  • หญิงชายที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • เด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะเด็กวัยเจริญพันธุ์
  • ผู้ที่มีแผลหรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง
  • ผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ฯลฯ
  • ผู้ที่สัมผัสหูดหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงมือเพื่อป้องกัน
  • ผู้ที่ใช้สถานที่ที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เช่น ห้องอาบน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ ฯลฯ

วิธีป้องกันการติดเชื้อ HPV ทำอย่างไร

  • ผู้ที่มีอายุ 9 – 26 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก 4 ชนิด 
  • ผู้หญิงที่มีอายุ 21 – 65 ปี ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี 
  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ 
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ไม่ควรแกะหรือเกาหูดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
  • สวมรองเท้าเมื่ออยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น สระว่ายน้ำสาธารณะ ห้องอาบน้ำรวม ฯลฯ

วิธีการรักษาหากติดเชื้อ HPV เป็นอย่างไร

หากติดเชื้อ HPV วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการที่พบเป็นสำคัญ โดยผู้ที่เป็นหูดจะรักษาโดยการใช้ยา ส่วนผู้ที่เป็นมะเร็งอาจต้องเข้ารับการฉายรังสีหรือผ่าตัด หากรู้เร็วจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและมะเร็งไม่ลุกลามจนสายเกินไป


ตรวจเชื้อ HPV ด้วยตัวเองทำอย่างไร

ปัจจุบันมี HPV Self–Collected Test ชุดเก็บตัวอย่างเซลล์ด้วยตัวเองเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ที่ออกแบบเพื่อเก็บสิ่งตรวจไปตรวจวิเคราะห์การติดเชื้อ HPV ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก โดยจะมีไม้เก็บสิ่งตรวจและชุดน้ำยาที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (US-FDA) ในการเก็บสิ่งตรวจจากปากมดลูกชั้นในของคุณผู้หญิงเพื่อนำไปใช้ทดสอบกับชุดตรวจแอพติมาเอชพีวี คลามัยเดีย ทราโคมาติส และนีสซีเรีย โทโนเรียในห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ผลต่อไป


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านมะเร็ง

โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ รักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยความชำนาญตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยทีมแพทย์ ทีมพยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพที่พร้อมสนับสนุนผู้ป่วยในทุกขั้นตอนการรักษาเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง