
มะเร็งต่อมไทรอยด์ รักษาได้ก่อนรุนแรง
ต่อมไทรอยด์อยู่ด้านหน้าลำคอ เมื่อผิดปกติจะโตขึ้นและเห็นเป็นก้อน บางครั้งเป็นก้อนเดี่ยว บางครั้งโตลักษณะหลาย ก้อนติดกัน ซึ่งก้อนที่ต่อมไทรอยด์เป็นความผิดปกติที่ตรวจพบได้บ่อยและมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะมะเร็งไทรอยด์เกิดจากเซลล์ในต่อมไทรอยด์เติบโตผิดปกติจนพัฒนาเป็นก้อนมะเร็ง ควรรีบตรวจเช็กและรักษาโดยเร็วก่อนรุนแรง
สาเหตุมะเร็งต่อมไทรอยด์คืออะไร
แม้มะเร็งต่อมไทรอยด์จะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจัยที่มีส่วนทำให้เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ได้แก่
- กรรมพันธุ์ มีคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์
- การทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เช่น ไทรอยด์อักเสบ
- ก้อนเนื้องอกต่อมไทรอยด์ขนาดใหญ่
- มีประวัติการได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ หรือเคยได้รับสารกัมมันตภาพรังสี
กลุ่มเสี่ยงมะเร็งต่อมไทรอยด์คือใคร
มะเร็งต่อมไทรอยด์พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ในเพศชายที่มาพบแพทย์ด้วยก้อนเนื้องอกไทรอยด์พบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์มากกว่า ทั้งนี้มะเร็งต่อมไทรอยด์มักพบในช่วงอายุ 40 – 50 ปี และพบได้ในผู้ป่วยที่มาด้วยก้อนต่อมไทรอยด์ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 70 ปี
อาการมะเร็งต่อมไทรอยด์เป็นอย่างไร
มะเร็งไทรอยด์ระยะแรกถ้าเริ่มเป็นจะไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ นอกจากคลำพบก้อนที่ลำคอ โดยตำแหน่งของต่อมไทรอยด์จะอยู่หน้าต่อกระดูกคอหอย วิธีสังเกตมะเร็งไทรอยด์ที่ถึงเวลาต้องพบแพทย์ ได้แก่
- พบก้อนโตบริเวณด้านหน้าลำคอที่เคลื่อนขึ้นลงตามการกลืนน้ำลาย
- ก้อนโตที่ลำคอบริเวณอื่น ซึ่งอาจเป็นต่อมน้ำเหลืองที่มีเซลล์มะเร็งกระจายมา
- เสี่ยงเปลี่ยน เสียงแหบ
- กลืนอาหารลำบาก
- หายใจลำบาก
ตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมไทรอยด์อย่างไร
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมไทรอยด์นั้น การตรวจร่างกายจะคลำพบก้อนแข็ง ขอบเขตก้อนขรุขระไม่ชัด หรือมีอาการมะเร็งต่อมไทรอยด์กดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น เสียงแหบ หายใจลำบากหรือกลืนลำบาก ซึ่งแพทย์จะส่งตรวจเลือดไทรอยด์ฮอร์โมนและตรวจอัลตราซาวนด์ไทรอยด์เพื่อดูลักษณะก้อนว่าเข้ากับก้อนเนื้องอกไทรอยด์หรือไม่และมีจำนวนกี่ก้อน โดยการอัลตราซาวนด์สามารถวินิจฉัยมะเร็งไทรอยด์ได้ แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนแพทย์จะทำการตรวจโดยใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเอาเนื้อจากต่อมไทรอยด์มาตรวจ (Fine Needle Aspiration) ซึ่งง่ายต่อการวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องประมาณ 90% หลังจากวินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นมะเร็งไทรอยด์ควรได้รับการผ่าตัด เนื่องจากมะเร็งไทรอยด์ส่วนใหญ่เป็นมะเร็งที่เติบโตช้า ถ้าได้รับการผ่าตัดตั้งแต่ระยะแรกมักจะหายจากโรคได้
รักษามะเร็งไทรอยด์อย่างไร
เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ การรักษาหลักคือ การผ่าตัด และให้การรักษาเพิ่มเติมด้วยการกลืนแร่รังสีไอโอดีน การฉายรังสีและการให้เคมีบำบัดจะให้ในบางกรณี
ผ่าตัดมะเร็งต่อมไทรอยด์
การผ่าตัดมะเร็งต่อมไทรอยด์ ประกอบด้วยการตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด (Thyroidectomy) หรือตัดออกบางส่วน (Thyroid Lobectomy) โดยในกรณีที่ตรวจพบว่ามีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองอาจจำเป็นต้องตัดต่อมน้ำเหลืองโดยรอบที่เกี่ยวข้องด้วย (Lymph Node Dissection) ปัจจุบันแพทย์จะเก็บรักษาต่อมพาราไทรอยด์ที่ติดอยู่ทางด้านหลังของต่อมไทรอยด์เพื่อป้องกันภาวะแคลเซียมต่ำในกระแสเลือดหลังผ่าตัดและเก็บรักษาเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงสายเสียงเพื่อป้องกันภาวะเสียงแหบหลังผ่าตัดให้กับผู้ป่วยทุกราย
ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายเพื่อลดความเสี่ยงจากการดมยาสลบก่อนผ่าตัดการผ่าตัดมะเร็งต่อมไทรอยด์ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หรืออาจจะมากกว่านั้นแล้วแต่กรณี หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารทางปากได้ตามปกติและต้องรับการรักษาแบบผู้ป่วยในประมาณ 3 – 5 วัน เมื่อแน่ใจว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ผู้ป่วยจึงได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลและกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้
ต่อมไทรอยด์ที่ถูกตัดออกไปจะถูกนำส่งให้พยาธิแพทย์ตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์อย่างละเอียดหากพบว่ามีลักษณะการกระจายหรือมีแนวโน้มการกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่นผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้รักษาด้วยรังสีไอโอดีนเพิ่มเติมซึ่งมักเริ่มให้การรักษาด้วยวิธีนี้หลังเสร็จสิ้นการผ่าตัดไปแล้ว 4 สัปดาห์
ในการรักษาด้วยรังสีไอโอดีนผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 2 – 4 วัน และจะได้รับการอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลเมื่อระดับรังสีที่ถูกขับถ่ายออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระอยู่ในระดับที่ปกติ เพื่อป้องกันการแพร่รังสีไปให้กับคนใกล้ชิดโดยไม่จำเป็น
มะเร็งไทรอยด์อันตรายไหม
มะเร็งไทรอยด์หากได้รับการรักษาโดยเร็วจะยิ่งเพิ่มโอกาสหายขาดและรอดชีวิต แต่มะเร็งต่อมไทรอยด์อาการมักไม่ปรากฏจึงยากแก่การสังเกต โดยเฉพาะในกรณีที่ก้อนมีขนาดเล็ก คลำไม่ได้ ต้องตรวจโดยการอัลตราซาวนด์คอถึงพบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักรู้ตัวจากการคลำเจอก้อนที่คอแล้วมาพบแพทย์ บางคนชะล่าใจปล่อยทิ้งไว้จนก้อนมีขนาดใหญ่ ทำให้อาการรุนแรงและลุกลามไปยังเส้นประสาทเสียงจนเสียงแหบ ลามไปกดเบียดหลอดลมหรือหลอดอาหารส่งผลให้หายใจลำบาก กลืนลำบาก เป็นต้น
การรักษามะเร็งไทรอยด์จะได้ผลดีมาก หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ที่สำคัญควรรักษากับแพทย์เฉพาะทางมะเร็งและโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ และเพิ่มโอกาสหายจากโรค กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพอีกครั้ง
โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ที่ไหนดี
ศูนย์มะเร็งเฉพาะโรค โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ พร้อมด้วยแพทย์เฉพาะทางมะเร็งที่มีความชำนาญและมากด้วยประสบการณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัย มั่นใจในการตรวจเช็กมะเร็งต่อมไทรอยด์และการเลือกวิธีรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ที่เหมาะกับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละบุคคล อีกทั้งมีทีมสหสาขาคอยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง
แพทย์ที่ชำนาญการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์
พญ.ชนัตถ์ ครรชิต ศัลยแพทย์ด้านศีรษะและลำคอ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
แพ็กเกจคัดกรองโรคมะเร็ง
แพ็กเกจคัดกรองโรคมะเร็ง ราคาเริ่มต้น 6,500 บาท