ต่อมน้ำเหลืองโตเสี่ยงมะเร็งมากแค่ไหน
หากมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ จึงควรรู้เท่าทันเพื่อให้รับมือได้ถูกวิธีก่อนสายเกินไป
ต่อมน้ำเหลืองโตสามารถคลำพบบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ใต้รักแร้ ลำคอ ใต้คาง หลังใบหู ขาหนีบ เป็นต้น ถ้าพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กโดยเร็วที่สุด
ต่อมน้ำเหลืองคืออะไร
ต่อมน้ำเหลือง (Lymph Nodes) คือ อวัยวะหนึ่งในระบบน้ำเหลือง (หรือระบบภูมิคุ้มกัน) มีหน้าที่ต่อสู้ทำลายเชื้อโรค โดยดักจับไวรัส แบคทีเรีย และเหตุอื่นที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย ในต่อมน้ำเหลืองประกอบด้วยเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ B cells, Follicular Helper T cells (TFH), T cells, Dendritic Cells และ Reticular Cells
ต่อมน้ำเหลืองโตเกิดจากอะไร
ต่อมน้ำเหลืองโต (Lymphadenopathy) สามารถพบเป็นปกติโดยเฉพาะในเด็ก เช่น ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรโต เป็นต้น โดยส่วนใหญ่พบร่วมกับการอักเสบของจมูก คอ ไซนัส หรือกล่องเสียง หรือไม่ทราบสาเหตุ มีงานวิจัยระบุว่า มีเพียง 16% เท่านั้นที่เป็นมะเร็ง โดยกลไกการเกิดต่อมน้ำเหลืองโต แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
- การเพิ่มของเซลล์ในระบบน้ำเหลือง (Hyperplasia)
- มีอะไรแทรกในต่อมน้ำเหลือง (Infiltration)
โรคที่ทำให้เกิดต่อมน้ำเหลืองโตคือโรคอะไร
โรคที่ทำให้เกิดต่อมน้ำเหลืองโต ได้แก่
- โรคติดเชื้อ เช่น ไวรัส (HIV, EBV, CMV, หัด หรือหัดเยอรมัน), แบคทีเรีย (โดยเฉพาะ Staphylococci, วัณโรค Tuberculosis และเชื้อ Mycobacteria อื่น, ริกเกตเซียจากเห็บไรกัด), ราและพยาธิ (Toxoplasmosis)
- การตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (SLE, รูมาตอยด์), แพ้ยา (ยากันชัก Phenytoin), โรค Histiocytosis X และโรค Castleman
- เซลล์ไขมันหรือ Glycoprotein – Laden Macrophage (Monocyte) เช่น โรค Lipid Storage (Gaucher Disease)
- โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Non – Hodgkin หรือ Hodgkin lymphoma), มะเร็งเม็ดเลือดขาว, การแพร่กระจายของมะเร็งอื่น และอื่น ๆ เช่น Sarcoidosis
ตรวจวินิจฉัยต่อมน้ำเหลืองโตทำได้อย่างไร
หากมีต่อมน้ำเหลืองโต ควรตรวจเบื้องต้น ได้แก่ ความสมบูรณ์เม็ดเลือด (CBC), เอกซเรย์ปอด และ Monospot Test และให้ยาปฏิชีวนะกรณีสงสัยว่าติดเชื้อแบคทีเรีย
ต่อมน้ำเหลืองโตแบบไหนที่ควรพบแพทย์
- ก้อนต่อมน้ำเหลืองขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร
- ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้าโตหรือโตหลายตำแหน่ง
- ต่อมน้ำเหลืองโตเร็วหรือไม่ยุบหลัง 1 เดือน
- ต่อมน้ำเหลืองแข็งและไม่ขยับ
- มีไข้หลายวัน
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบเหตุ
ต่อมน้ำเหลืองโตรักษาได้อย่างไร
ต่อมน้ำเหลืองโตเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การรักษาจะอิงตามการตรวจวินิจฉัยโรค สิ่งสำคัญคือ หากไม่มั่นใจสาเหตุของต่อมน้ำเหลืองโตควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป
เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับต่อมน้ำเหลืองโต
ในอดีตผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส สามารถพบต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโตได้ แต่ในปัจจุบันพบน้อยลง และอาการเจ็บต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเกิดจากเปลือกหุ้มต่อมน้ำเหลือง (Capsule) ยืดออกจากต่อมน้ำเหลืองที่โตเร็ว มักพบสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ใช่มะเร็ง ทั้งนี้ต้องพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรคโดยละเอียด
แพทย์ที่ชำนาญการรักษาต่อมน้ำเหลืองโตและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
นพ.พศวีร์ เขมะพิพัฒน์ อายุรแพทย์โรคเลือด
โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านมะเร็ง
โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ รักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยความชำนาญตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยทีมแพทย์ ทีมพยาบาล ทีมสหสาขาวิชาชีพที่พร้อมสนับสนุนผู้ป่วยในทุกขั้นตอนการรักษาเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
ผู้ที่สนใจรับการปรึกษากับแพทย์กรุณาติดต่อ
โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
โทร. 0 2755 1091
หรือคลิกที่นี่เพื่อทำนัดด้วยตัวคุณเอง