ภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema and Breast Cancer)

ภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema and Breast Cancer)


ภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านมสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งไม่สามารถบอกได้เลยว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นในตอนไหน ดังนั้นการรู้เท่าทันจะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่ตื่นตระหนกและรับมือได้อย่างถูกวิธี

รู้จักภาวะแขนบวมหลังรักษามะเร็งเต้านม

ภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema and Breast Cancer) เป็นอาการแขนบวมที่เกิดขึ้นหลังจากการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะเป็นด้วยการผ่าตัดหรือรังสีรักษา อาจเกิดขึ้นทันทีหรือหลังการรักษาไปแล้วหลายปี ซึ่งจะเกิดขึ้นกับแขนข้างเดียวกับที่เป็นมะเร็งเต้านม เกิดได้ตั้งแต่ปลายนิ้วมือไปจนถึงต้นแขน อาจเกิดขึ้นในบางบริเวณอย่างมือหรืออาจจะเกิดขึ้นทั้งแขนได้ หากบวมน้อยจะยังใช้งานแขนได้ปกติ แต่หากบวมมากอาจใช้งานแขนไม่ได้ ถ้ารีบรักษาทันทีจะช่วยให้อาการดีขึ้นและไม่บวมจนทำให้ใช้แขนไม่สะดวกได้

สาเหตุของโรค

สาเหตุของภาวะแขนบวมหลังรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema and Breast Cancer) ได้แก่

  1. ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกเพื่อรักษามะเร็งเต้านม การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกยิ่งมาก แขนยิ่งมีโอกาสบวมเพิ่มขึ้น และหากเนื้อเยื่อบริเวณที่ผ่าตัดเกิดพังผืดอาจส่งผลให้ท่อน้ำเหลืองเกิดพังผืด ทำให้ทางเดินน้ำเหลืองอุดตันส่งผลให้แขนบวมได้
  2. การฉายรังสีรักษาบริเวณรักแร้หรือเต้านม อาจทำให้เกิดพังผืดต่อมน้ำเหลืองและท่อน้ำเหลืองหลังผ่าตัด ส่งผลให้ทางเดินน้ำเหลืองที่แขนอุดตัน แขนจึงบวมได้เช่นกัน ถ้าผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้และฉายรังสีด้วย โอกาสแขนบวมจะยิ่งมากขึ้น 
  3. แขนติดเชื้อ จากการรักษาโรคมะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดและรังสีรักษา อาจทำให้เกิดการคั่งของน้ำเหลือง ส่งผลให้แขนติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อติดเชื้อและรักษาหายพังผืดในเนื้อเยื่อแขนจะเพิ่มขึ้น ทางเดินน้ำเหลืองจะอุดตันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แขนบวมมากขึ้น เมื่อติดเชื้อง่ายขึ้น ก็จะเป็น ๆ หาย ๆ แบบนี้ไปเรื่อย ๆ 
  4. โรคมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ ทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายมาต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้หรือเหนือไหปลาร้า ทำให้อุดตันทางเดินน้ำเหลืองของแขน ส่งผลให้แขนบวมได้เช่นกัน

ภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema and Breast Cancer)

อาการบอกโรค

อาการภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema After Breast Cancer Treatment) ได้แก่

  • แขนบวม
  • ปวด ชา อ่อนแรง
  • แขนติด เคลื่อนไหวไม่เป็นปกติ
  • ผิวหนังหนา ไม่เรียบ 
  • ใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับแล้วรู้สึกคับ

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema After Breast Cancer Treatment) ส่วนใหญ่แพทย์เฉพาะทางจะประเมินหลังจากผ่าตัดมะเร็งเต้านมประมาณ 6 เดือน เพราะผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการในช่วงนี้ ซึ่งจะประเมินจากภาพถ่าย การวัดเส้นรอบวงแขนเหนือศอก การวัดปริมาตรแขน (Perometer) รวมถึงการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น Lymphangiogram, Ultrasound, ICG lymphography, Lymphoscintigraphy, MRI, CT Scan เป็นต้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

วิธีการรักษา

การรักษาภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema and Breast Cancer )ได้แก่

  1. ลดการบวม ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันและไม่ให้อาการเป็นมากขึ้น อาทิ
    • ระวังอย่าให้แผลที่แขนติดเชื้อ ถ้าแผลเล็กต้องเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนทายา ถ้าแผลใหญ่หรือแผลลึกต้องรีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ไม่ให้เป็นแผลหรือติดเชื้อง่าย
    • อย่าให้มือและแขนบาดเจ็บ ไม่เจาะเลือด ฉีดยา ฉีดวัคซีนแขนด้านที่ผ่าตัด ใส่ถุงมือยางเมื่อทำงานบ้าน
    • ไม่ควรบีบรัดแขนแน่น ไม่ใส่เสื้อคับหรือเครื่องประดับที่รัดแขนข้างที่ผ่าตัด 
    • ป้องกันการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ไม่ยกของหนัก ไม่ออกกำลังที่ต้องใช้กำลังแขนหรือใช้แขนตลอดเวลา
    • ระวังการอาบน้ำร้อนเกินไปหรืออบตัวด้วยความร้อนมากเกินไป เพราะอาจทำให้น้ำเหลืองคั่งมากขึ้น
    • หากนั่งนิ่งเป็นเวลานานควรยกแขนสูงกว่าระดับหัวใจ
    • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน เพราะเป็นต้นเหตุให้แขนบวม
    • ใส่ปลอกแขนรัดไล่น้ำเหลือง
    • นวดแขนไล่น้ำเหลือง 
    • ใช้เลเซอร์กระตุ้นการหมุนเวียนของเลือดและน้ำเหลือง
    • หมั่นสังเกตแขนด้านที่ผ่าตัด หากบวมหรือผิดปกติต้องรีบพบแพทย์ทันที 
  2. การผ่าตัด เพื่อรักษาภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม ทำได้โดย
    • ผ่าตัดเชื่อมท่อน้ำเหลืองกับเส้นเลือดดำ เพื่อให้น้ำเหลืองสามารถกลับได้ทางเส้นเลือดดำแทน
    • ผ่าตัดปลูกถ่ายต่อมน้ำเหลือง เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างทางเดินน้ำเหลืองขึ้นมาใหม่
    • ผ่าตัดเนื้อส่วนเกินหรือดูดไขมัน ในคนไข้ที่มีภาวะแขนบวมจนทำให้เกิดการสะสมของไขมันใต้ชั้นผิวหนังเพิ่มเติม

 

ภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านมสามารถเกิดได้สิ่งสำคัญคือการป้องกันไม่ให้แขนบวมโดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะแขนบวมได้และหากคนไข้มีอาการที่สงสัยว่าเกิดภาวะแขนบวมควรมาตรวจพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและเริ่มการรักษาตั้งแต่มีอาการน้อยเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดนอกจากนั้นคนไข้ควรป้องกันไม่ให้แขนบวมมากขึ้นและไม่ให้เกิดการติดเชื้อของแขนหากแขนบวมแดงร้อนปวดและมีไข้ต้องรีบพบแพทย์

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง