เรื่องควรรู้ก่อนตรวจเช็กเต้านมด้วย MRI BREAST
แม้มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี แต่ผู้หญิงอายุน้อยกว่านั้นก็สามารถพบได้เช่นกัน การตรวจเช็กเต้านมเป็นประจำจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI BREAST) คือหนึ่งในวิธีการตรวจวินิจฉัยเต้านมที่ช่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมแม้ไม่มีอาการแต่มีความเสี่ยงสูงได้ ซึ่งก่อนตรวจควรมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
MRI BREAST คืออะไร
MRI BREAST หรือ Magnetic Resonance Imaging Breast คือการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอที่สร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูง ช่วยให้ตรวจวินิจฉัยและประเมินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ใครที่เหมาะกับการตรวจ MRI BREAST
- ผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ เช่น มารดาและพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน
- ผู้ที่ตรวจพบยีนในการเกิดมะเร็งเต้านม (BRCA1, BRCA2)
- ผู้ที่มีประวัติฉายแสงบริเวณทรวงอกตั้งแต่อายุ 10 – 30 ปี
- ผู้ที่เคยตรวจชิ้นเนื้อเต้านมพบเซลล์ผิดปกติ เช่น Atypical Ductal Hyperplasia (ADH), Lobular Carcinoma in situ (LCIS)
- ผู้ที่มีประวัติเคยผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมมาก่อน
- ผู้หญิงที่มีความหนาแน่นเนื้อเต้านมมากในภาพแมมโมแกรม (Dense Breast Tissue)
MRI BREAST ช่วยตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- ประเมินการวางแผนการรักษาก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม (Preoperative Evaluation of Breast Cancer)
- ในผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่น ๆ และสงสัยว่าสาเหตุมาจากมะเร็งเต้านม (Occult Breast Cancer)
- เสริมความชัดเจนในการวินิจฉัยผู้ป่วยที่ตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์แล้วไม่สามารถระบุรอยโรคได้แน่ชัดและโรคเต้านมที่มีความซับซ้อน (Inconclusive Mammographic or Ultrasound Findings)
- ตรวจหาความผิดปกติแตกรั่วของถุงซิลิโคน (Breast Implant Integrity) และประเมินความผิดปกติของเต้านมในกลุ่มที่มีประวัติฉีดซิลิโคนหรือสารเสริมความงามที่ไม่สามารถตรวจประเมินได้ด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ปกติ
- ติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Evaluate Treatment Response After Neoadjuvant Chemotherapy)
- ช่วยนำทางการเจาะชิ้นเนื้อที่พบความผิดปกติใน MRI BREAST เท่านั้น (MRI – Guided Biopsy)
ข้อดีของ MRI BREAST
- ไม่มีรังสีที่เป็นอันตรายในการตรวจ
- เพิ่มความชัดเจนในการตรวจวินิจฉัย
ข้อจำกัดของ MRI BREAST
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถนอนคว่ำเป็นเวลานานหรือกลัวที่แคบ
- ผู้ป่วยที่มีประวัติฝังอุปกรณ์โลหะในร่างกายที่ไม่สามารถเข้าเครื่อง MRI ได้
- สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตรควรอยู่ในการดูแลของแพทย์