โรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา
รู้จักโรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา
โรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาเป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่พบได้ประมาณ 15% ของมะเร็งทางโลหิตวิทยาทั้งหมด โดยมีอุบัติการณ์การเกิดโรค 4 ต่อ 100,000 คนต่อปี มักพบในผู้ป่วยสูงอายุช่วง 60 – 75 ปี เกิดจากการที่มีความผิดปกติของการแบ่งตัวเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในไขกระดูกที่เรียกว่า พลาสมาเซลล์ (Plasma Cell) ซึ่งในภาวะปกติพลาสมาเซลล์มีหน้าที่สร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เรียกว่า อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) แต่เมื่อพลาสมาเซลล์มีความผิดปกติและกลายเป็นมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาจะทำให้มีความผิดปกติในการสร้างอิมมูโนโกลบูลิน และทำให้โปรตีนบางชนิดเพิ่มขึ้นในร่างกายที่เรียกว่า เอ็มโปรตีน (Monoclonal Protein; M – Protein) เอ็มโปรตีนที่สูงในร่างกายจะทำให้การทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องผิดปกติ นำไปสู่อาการที่พบบ่อยของโรค ได้แก่ ภาวะโลหิตจาง ภาวะไตเสื่อม กระดูกพรุนหรือกระดูกหัก และภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ในผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยก้อนเนื้องอกพลาสมาเซลล์ที่เรียกว่า พลาสมาไซโตมา (Plasmacytoma) มักพบบ่อยที่กระดูกสันหลังหรือกระดูกซี่โครง บางครั้งมีการกดเบียดไขสันหลัง ทำให้มีอาการปวดหลังหรือขาอ่อนแรง
วินิจฉัยโรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา
- การเจาะไขกระดูก จะตรวจพบพลาสมาเซลล์ที่มีการสร้างโปรตีนที่ผิดปกติในไขกระดูก
- การตรวจพบเอ็มโปรตีนในเลือด นอกจากนั้นยังอาจพบระดับเม็ดเลือดแดงต่ำ ระดับแคลเซียมในเลือดสูง และค่าทำงานของไตผิดปกติ
- X-Ray กระดูกทั่วร่างกาย (Skeletal Bone Survey) อาจพบรอยโรคกระดูกสลาย (Lytic Lesion) กระดูกบาง (Osteopenia) หรือกระดูกหักจากโรค (Pathological Fracture) ในบางรายที่มีอาการปวดหลังหรือกระดูกสันหลังหักอาจต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมโดยวิธี MRI หรือ CT Scan
- ตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีโปรตีนผิดปกติรั่วจากไต
ระยะโรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา
ระยะของโรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา (Revised International Staging System; R-ISS) มีทั้งหมด 3 ระยะขึ้นกับระดับของโปรตีนไข่ขาวในเลือด (Albumin) ระดับ Beta2 microglobulin ระดับ LDH ในเลือด และผลโครโมโซมในไขกระดูกโดยการตรวจแบบ Fluorescence in situ Hybridization (FISH)
รักษามะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา
การรักษาโรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การใช้ยาสมัยใหม่ (Novel Agent Therapy) ทำให้การรักษาได้ผลดีทั้งด้านการตอบสนองดีขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลง และทำให้อายุยืนยาวกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแบบดั้งเดิม (Conventional Chemotherapy) ดังนั้นการรักษามาตรฐานในปัจจุบันแนะนำให้ใช้สูตรยาเคมีที่มียาสมัยใหม่ร่วมด้วย ได้แก่ ยาในกลุ่ม Proteasome Inhibitor (Bortezomib, Carfilzomib) และยาในกลุ่ม Immunomodulatory Drugs (Lenalidomide, Thalidomide, Pomalidomide)
ในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 65 ปีและแข็งแรง ควรได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากตนเอง (Autologous Stem Cell Transplantation) ซึ่งจะทำหลังจากผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดและพบว่าโรคตอบสนองอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยการรักษาวิธีดังกล่าวจะช่วยทำให้โรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาอยู่ในระยะสงบได้ยาวนานขึ้นและช่วยทำให้อายุยืนยาวขึ้น
เมื่อโรคอยู่ในระยะสงบแล้วยังมีการใช้ยาแบบต่อเนื่องเพื่อควบคุมโรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาให้อยู่ในระยะสงบ (Maintenance Therapy) ด้วยวิธีรักษาดังกล่าวยิ่งทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมามีอายุยืนยาวขึ้น