สังเกตอาการมะเร็งต่อมลูกหมากก่อนสาย

สังเกตอาการมะเร็งต่อมลูกหมากก่อนสาย


มะเร็งต่อมลูกหมากพบมากในคนสูงวัยและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยผู้ชาย 1 ใน 8 คนมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและอายุเฉลี่ยที่ตรวจวินิจฉัยพบโรคนี้ครั้งแรกอยู่ที่ 66 ปี คุณผู้ชายจึงไม่ควรละเลยและหมั่นสังเกตอาการของมะเร็งต่อมลูกหมากเพื่อจะได้รู้เร็ว รักษาเร็ว ลดความรุนแรงของโรค

อาการมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะต้นส่วนใหญ่มักไม่มีอาการและตรวจวินิจฉัยจนพบโรคได้จากการตรวจสุขภาพ แต่ในผู้ป่วยบางรายมีการแสดงอาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้แก่ 

  • ปัสสาวะมีเลือดปน
  • ปัสสาวะติดขัดหรือปัสสาวะไม่สุด 
  • ปัสสาวะบ่อย 
  • มีอาการเจ็บเวลาปัสสาวะ
  • การหย่อนสมรถภาพทางเพศ

หากมะเร็งต่อมลูกหมากลุกลามจะมีอาการอย่างไร

ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากหากมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ จะแสดงอาการดังนี้

  • เบื่ออาหาร 
  • น้ำหนักตัวลดลง 
  • มีอาการตามอวัยวะที่โรคแพร่กระจายไป เช่น โรคแพร่กระจายไปที่กระดูกจะมีอาการปวดตามกระดูก กระดูกทรุดหรือหัก ถ้ามะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณต้นขาอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการเท้าบวม เป็นต้น 

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นอย่างไร

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก ประกอบไปด้วย

  • การซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก
  • การตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากทางพยาธิวิทยา
  • การตรวจระดับ PSA (Prostate – Specific Antigen)
  • การตรวจทางรังสีวิทยา

สังเกตอาการมะเร็งต่อมลูกหมากก่อนสาย

การตรวจระดับ PSA เพื่อวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากคืออะไร

การตรวจระดับ PSA มาจากการที่ต่อมลูกหมากผลิตโปรตีนที่เรียกว่า Prostate – Specific Antigen (PSA) ซึ่งค่า PSA จะพบน้อยในเลือด แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีการผลิต PSA สูงกว่าปกติ เมื่อเจาะเลือดแล้วมักพบค่า PSA สูง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นค่า PSA สูงไม่ได้บอกว่าจะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากทุกคน เพราะค่า PSA สามารถสูงได้จากภาวะอื่น ๆ และผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากบางรายมีค่า PSA ปกติ แต่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากก็พบได้เช่นกัน


การตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากมีวิธีใดบ้าง

การตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก เช่น การเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้าบริเวณต่อมลูกหมาก (MRI Prostate) การเอกซเรย์กระดูก (Bone Scan) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computer Tomography) และปัจจุบันมีการตรวจเพทซีที (PET/CT) ซึ่งมีความถูกต้องและความไวในการตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากสูง จึงทำให้ค้นพบโรคได้เร็ว


รักษามะเร็งต่อมลูกหมากได้อย่างไร

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากมีหลายรูปแบบประกอบไปด้วย

  • การเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด (Active Surveillance)
  • การผ่าตัด (Surgery) แบ่งออกเป็น 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดโดยใช้วิธีการส่องกล้อง และการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด
  • การฉายรังสี (Radiotherapy) เป็นการรักษาโดยใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยตรง สามารถทำได้ 2 วิธี คือ ฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย (External Beam Radiation Therapy) โดยปัจจุบันใช้การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม สามารถฉายรังสีไปบริเวณต่อมลูกหมากได้ตรงตำแหน่ง โดยที่อวัยวะข้างเคียงได้รับรังสีในปริมาณน้อย ทำให้สามารถควบคุมมะเร็งได้ดีขึ้น มีผลข้างเคียงน้อยลง อีกวิธีคือการฝังแร่เข้าไปที่ต่อมลูกหมากโดยตรง (Brachytherapy)
  • การรักษาด้วยฮอร์โมน (Hormonal Therapy) มีหลายวิธี ได้แก่ การรับประทานยา หรือฉีดยาต้านฮอร์โมนเพศชาย หรือการผ่าตัดอัณฑะออกทั้ง 2 ข้าง (Bilateral Orchidectomy)
  • ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) มักใช้ในระยะที่มีการแพร่กระจายของโรคไปอวัยวะต่าง ๆ และโรคมีการดื้อต่อการรักษาด้วยฮอร์โมน

มะเร็งต่อมลูกหมากรักษาตามความรุนแรงได้อย่างไร

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากตามความรุนแรงของโรคแบ่งออกเป็น

  • ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มความรุนแรงต่ำ สามารถเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด หรือสามารถรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการฉายรังสีเพียงอย่างเดียวได้
  • ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มความรุนแรงปานกลาง จะไม่สามารถเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดได้แล้ว การรักษาที่เหมาะสมจะเป็นการผ่าตัดหรือการฉายรังสี และจะมีการพิจารณาให้ฮอร์โมนร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มความรุนแรงสูง การรักษาประกอบด้วยการฉายแสงหรือผ่าตัด ผู้ป่วยทุกรายควรได้รับฮอร์โมนร่วมด้วย โดยผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงมาก อาจจะพิจารณาให้ฮอร์โมน 2 ตัวร่วมกัน
  • ผู้ป่วยที่มีการกระจายของโรคไปที่อวัยวะอื่น ๆ การรักษาจะเป็นการรักษาด้วยยาเป็นหลัก

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคประโยชน์ผลข้างเคียงจากการรักษารวมทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยรวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังการรักษาดังนั้นการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากจึงควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางเป็นสำคัญเพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้ป่วยอีกครั้ง

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง