มะเร็งช่องปาก ภัยร้ายในช่องปาก
มะเร็งช่องปากเป็นโรคที่พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง มักพบตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป มีความอันตรายถึงชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะมะเร็งช่องปากสามารถแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ไปยังกระแสเลือด และไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ ดังนั้นการสังเกตตัวเองและรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็วคือสิ่งสำคัญที่สุด
รู้จักมะเร็งช่องปาก
มะเร็งช่องปาก คือ ก้อนเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในช่องปาก ได้แก่ ริมฝีปาก ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก และพื้นปากใต้ลิ้น เป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงและอันตรายหากตรวจพบในระยะลุกลาม
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งช่องปาก
ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งช่องปาก ได้แก่
- การสูบบุหรี่ ซิการ์ หรือไปป์ จะเพิ่มความเสี่ยงการพบมะเร็งช่องปากมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 6 เท่า
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ นอกจากนี้หากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มสุราจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นอีกถึง 15 เท่า
- การเคี้ยวหมาก พลู ยาเส้น ยาฉุน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งจากสารก่อมะเร็งที่เจือปนอยู่
- การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีในช่องปาก ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อโรคมะเร็งเช่นเดียวกับที่เกิดในมะเร็งปากมดลูก
- การเกิดบาดแผลเรื้อรังในช่องปากจากฟันผุ ฟันบิ่น หรือฟันปลอมที่หลวม ระคายเคืองซ้ำ ๆ จนเนื้อเยื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็ง
- มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งในช่องปาก
อาการมะเร็งช่องปาก
มะเร็งช่องปากสามารถเกิดได้ทุกตำแหน่งในช่องปากโดยอาจจะมาด้วยลักษณะตุ่มก้อนเนื้อหรือรอยแผลที่รักษาไม่หายนานเกิน 2 – 3 สัปดาห์ อาจพบเลือดออกจากรอยแผล อาการชาจากการลุกลามทำลายเส้นประสาท หรือการกระจายไปต่อมน้ำเหลือง ทำให้สามารถคลำเป็นก้อนได้ที่ลำคอ
ตรวจวินิจฉัยมะเร็งช่องปาก
มะเร็งช่องปากอาจตรวจพบเพียงรอยปื้นแดงหรือขาวบนเยื่อบุช่องปากไม่มีอาการเจ็บปวดซึ่งการหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากและพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยร่องรอยผิดปกติในช่องปากจะช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้ในระยะแรกเริ่ม
รักษามะเร็งช่องปาก
ส่วนใหญ่แพทย์มักให้การรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการฉายรังสีหรือทั้งสองวิธีร่วมกันขึ้นกับระยะขนาดตำแหน่งชนิดของมะเร็งและสุขภาพของผู้ป่วยนอกจากนี้อาจต้องได้รับเคมีบำบัดในบางรายโดยผลของการรักษาจะขึ้นกับระยะของมะเร็งที่ตรวจพบหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่มหรือตั้งแต่เป็นรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง (Precancerous Lesion) และได้รับการรักษา มีโอกาสหายขาด และมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงมากกว่าตรวจพบในระยะลุกลามอย่างมาก
นอกจากนี้การรักษามะเร็งช่องปากในระยะลุกลามอาจมีผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะในช่องปาก เกิดการผิดรูป ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาในการพูด การกลืน ซึ่งจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมการทำงานและการทำกายภาพบำบัดเพื่อคืนการทำงานของอวัยวะในช่องปาก
ป้องกันมะเร็งช่องปาก
- งดสูบบุหรี่และดื่มสุราเป็นประจำ
- รักษาสุขภาพช่องปากให้แข็งแรง
- พบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน
- รับประทานอาหารและผักผลไม้ที่มีประโยชน์ให้สมดุล