มะเร็งรังไข่ ภัยร้ายในสตรี

มะเร็งรังไข่ ภัยร้ายในสตรี


มะเร็งคืออะไร

มะเร็งคือเนื้องอกชนิดร้ายแรงที่เกิดขึ้นเองจากหลายปัจจัยที่ทำให้สารทางพันธุกรรมเกิดความผิดปกติและบางส่วนสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ได้ มะเร็งสามารถเจริญเติบโต เพิ่มจำนวนเซลล์ เพิ่มขนาดได้เองอย่างรวดเร็วโดยปราศจากการควบคุมจากเซลล์ปกติและไม่สามารถทำลายด้วยกลไกทางธรรมชาติ ทั้งยังสามารถลุกลามทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะที่ปกติและสามารถกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงและไกลจากอวัยวะเริ่มต้นทางหลอดเลือด ท่อน้ำเหลือง อีกทั้งยังสามารถผ่านไปยังสมองและระบบประสาทได้อีกด้วย


มะเร็งรังไข่น่ากลัวอย่างไร

มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่พบมากเป็นอันดับที่ 7 ของมะเร็งสตรีทั่วโลก และพบเป็นอันดับที่ 6 ของมะเร็งสตรีในประเทศไทย รองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ประเทศไทยพบผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 2,600 รายในปี พ.ศ. 2556 หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ ซึ่งค่าเฉลี่ยในแต่ละวันพบสตรีไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งรังไข่ประมาณ 4 ราย โดยผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในระยะลุกลามแล้วเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถตรวจพบมะเร็งรังไข่ได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่ 20 – 80 ปี โดยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 50 – 60 ปี


มะเร็งรังไข่เกิดจากอะไร

มะเร็งรังไข่สามารถเกิดขึ้นโดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ ได้แก่

  • ผู้หญิงโสด ไม่เคยตั้งครรภ์ ไม่มีบุตร หรือมีบุตรยาก
  • ผู้หญิงที่มีประจำเดือนเร็วหรือหมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ
  • มีประวัติครอบครัว โดยเฉพาะญาติใกล้ชิด มารดา พี่สาวน้องสาว เป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือตรวจพบมีสารพันธุกรรมที่ผิดปกติ
  • สภาพแวดล้อม เช่น สารเคมี อาหาร ฯลฯ เนื่องจากพบว่าในประเทศอุตสาหกรรมจะมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่มากกว่าประเทศเกษตรกรรม
  • ผู้หญิงที่เคยเป็นหรือเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่มีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่มากกว่าคนปกติ และการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดนาน 5 ปีขึ้นไปพบว่า สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ได้

สัญญาณเตือนมะเร็งรังไข่คืออะไร 

  • ท้องอืดเป็นประจำ อาหารไม่ย่อย ปวดท้องเรื้อรัง รับประทานยาลดกรดแล้วไม่ดีขึ้น
  • ท้องโตกว่าปกติและคลำพบก้อน
  • มีก้อนในท้องน้อยหรือปวดแน่นท้อง
  • หากเป็นก้อนมะเร็งที่มีขนาดโตมาก ก้อนเนื้อจะไปกดกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ส่วนปลายจนทำให้ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • ในระยะท้าย ๆ ของโรคอาจมีน้ำในช่องท้อง ทำให้ท้องโตขึ้นกว่าเดิม ผอมแห้ง และภาวะขาดอาหารร่วมด้วย

ตรวจวินิจฉัยมะเร็งรังไข่อย่างไร

  1. การตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจภายในมักจะคลำพบก้อนในท้องหรือบริเวณท้องน้อยและการคลำพบก้อนรังไข่ได้ในสตรีวัยหมดประจำเดือนร้อยละ 30 มักเป็นมะเร็งของรังไข่ (เพราะตามปกติวัยหมดประจำเดือน รังไข่จะฝ่อและมีขนาดเล็กลง)
  2. การตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) ช่วยบอกได้ว่า มีก้อนหรือมีน้ำในช่องท้อง ในบางรายที่อ้วนหรือหน้าท้องหนามาก การตรวจร่างกายตามปกติอาจตรวจได้ยากและผลการตรวจอาจไม่ชัดเจน ดังนั้นควรตรวจร่วมกับการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงควบคู่ไปด้วย
  3. การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ มีความละเอียดสูง สามารถเห็นภาพลักษณะ ขนาด และจำนวนก้อนในท้อง สามารถตรวจต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่น ๆ ในช่องท้องได้
  4. การตรวจเลือดประกอบเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและติดตามการรักษา

มะเร็งรังไข่มีกี่ระยะ

มะเร็งรังไข่มี 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 มะเร็งอยู่เฉพาะที่รังไข่ยังไม่กระจายมาที่ช่องท้องน้อย
  • ระยะที่ 2 มะเร็งกระจายมาที่ปีกมดลูกและอวัยวะในช่องท้องน้อย
  • ระยะที่ 3 มะเร็งกระจายในท้อง ผิวช่องท้อง ไขมันในช่องท้อง ผิวลำไส้เล็ก ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน และในต่อมน้ำเหลืองรอบเส้นเลือดใหญ่ในท้อง
  • ระยะที่ 4 มะเร็งกระจายไปในอวัยวะไกล เช่น ปอด ช่องหัวใจ ต่อมน้ำเหลืองที่คอ เนื้อตับ และสมอง

แนวทางการรักษามะเร็งรังไข่เป็นอย่างไร

การรักษามะเร็งรังไข่จะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็งที่เป็น รวมทั้งสภาพความพร้อมและโรคประจำตัวของผู้ป่วยแต่ละราย โดยวิธีการรักษามีดังนี้

1. การทำศัลยกรรมการผ่าตัด

การรักษาหลักของมะเร็งรังไข่ คือการผ่าตัดพร้อมด้วยการตรวจอวัยวะทั้งหมดในช่องท้อง โดยการเก็บสารน้ำในช่องท้องส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งตัดเนื้องอก ตัดมดลูก หรือรังไข่ในไขมันในช่องท้อง รวมถึงต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องน้อยและเนื้อเยื่อที่ได้ทั้งหมดจากการผ่าตัดนำไปตรวจทางพยาธิเพื่อเพิ่มความถูกต้องในการวินิจฉัยและบ่งบอกชนิดของมะเร็งรังไข่ให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงการบ่งบอกระยะของโรคเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนทางการรักษาได้อีกด้วย

มะเร็งรังไข่ ภัยร้ายในสตรี

ผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery)

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องแบบแผลเล็กรักษาโรคมะเร็งนรีเวช เช่น มะเร็งรังไข่ โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้อง โดยศัลยแพทย์จะทำการเจาะรูบริเวณหน้าท้องประมาณ 3 – 4 รู แต่ละรูมีขนาดเล็กเพียง 5 – 10 มิลลิเมตร หลังจากนั้นจะมีการใส่เครื่องมือผ่าตัดความถี่สูง สำหรับการจี้ การตัด การห้ามเลือด รวมถึงกล้องขนาดเล็กที่สามารถมองเห็นอวัยวะภายในบนจอมอนิเตอร์ด้านนอกได้อย่างชัดเจน ทำให้การผ่าตัดเป็นไปได้อย่างถูกต้องชัดเจน

ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง คือ แผลเล็ก เจ็บน้อย เสียเลือดลดลง ฟื้นตัวไว ลดโอกาสการเกิดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่แผล และทำให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ผลการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาได้ดีเทียบเท่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กนี้เหมาะกับมะเร็งในระยะเริ่มแรกที่มีขนาดก้อนไม่ใหญ่มาก และเพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดี ผู้ป่วยจะเข้ารับการผ่าตัดแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ

2. การใช้ยาเคมีบำบัด
มะเร็งรังไข่จะตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัดและมักจะใช้วิธีนี้ควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3. การรักษาด้วยยาแบบเฉพาะเจาะจง
ปัจจุบันมีการใช้ยาแบบเฉพาะเจาะจงกับมะเร็งบางชนิด โดยใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด ทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นในผู้ป่วยบางรายที่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน


ป้องกันมะเร็งรังไข่ได้อย่างไร

สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 30 – 35 ปีขึ้นไป ควรมีการตรวจเช็กสุขภาพและตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปี ส่วนผู้หญิงที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งควรตรวจกับห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติควรรีบมาพบสูติ – นรีแพทย์ทันที

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง