เตรียมตัวให้ถูกวิธีก่อนเข้ารับการฉายรังสี
รู้จักกับการฉายรังสี
การฉายรังสีเป็นการรักษาโดยใช้รังสีที่มีพลังงานสูงหรืออนุภาคที่มีพลังงานสูงรักษามะเร็งที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยใช้รังสีในปริมาณที่เหมาะสมและมากพอที่สามารถทำลายมะเร็งได้ ระยะเวลาการฉายรังสีแต่ละครั้ง ประมาณ 10 – 30 นาที ส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 4 – 7 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะใช้เวลาในการรักษาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ขนาด ระยะการดำเนินของโรค และชนิดของมะเร็ง
เตรียมตัวก่อนฉายรังสี
- ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เช่น โปรตีนจากสัตว์ ปลา ไข่ นม ผัก ผลไม้ ฯลฯ
- ดูแลรักษาความสะอาดทั่วไปของร่างกาย
วิธีปฏิบัติตัวระหว่างเข้ารับการรักษาด้วยการฉายรังสี
การดูแลสุขภาพ
- อาหาร ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ วิตามินสูง รสไม่จัด โปรตีนสูงย่อยง่าย เช่น โปรตีนจากสัตว์ ปลา นม ไข่ ตับสัตว์ ถั่วต่าง ๆ ผัก ผลไม้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และควรงดอาหารประเภทหมักดอง
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2,000 cc (2 ลิตร) น้ำช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้น และระบายความร้อนออกจากร่างกาย หรือ อาจเป็นเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยชอบก็ได้ เช่น น้ำผลไม้ น้ำหวาน ฯลฯ
- ควรรักษาความสะอาดทั่วไปของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพราะผู้ป่วยที่รักษาด้วยรังสี อาจมีอาการอ่อนเพลียและภูมิต้านทานของร่างกายต่ำ ถ้าร่างกายสกปรกจะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย
- การขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ถ้ามีอาการท้องผูกหรือท้องเสียให้แจ้งแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลเพื่อให้คำแนะนำและรักษา
- ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 ชั่วโมง ถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะเครียดนอนไม่หลับให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบ เพื่อวางแผนการดูแลรักษา
- ออกกำลังกายตามสภาพของร่างกายและทำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น
- ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย หรือมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บปาก เจ็บคอ กลืนลำบาก ผิวหนังอักเสบ ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบเพื่อให้การดูแลรักษา
- ควรทำจิตใจให้สบาย หางานอดิเรกทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังวิทยุ ดูทีวี พูดคุยกับผู้อื่น ฯลฯ
- ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ CBC สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินภาวะสุขภาพขณะรับการฉายรังสี
- ควรหลีกเลี่ยงแหล่งที่มีผู้คนอยู่กันอย่างหนาแน่น เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ทั้งจากการสัมผัส อากาศ อาหาร และน้ำดื่ม
การดูแลผิวหนังบริเวณที่ได้รับการฉายรังสี
- ควรดูแลบริเวณที่ฉายรังสีให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ
- ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ แต่ควรใช้เป็นน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ แป้ง เพราะแป้งฝุ่นอาจมีส่วนผสมของโลหะหนัก ทำให้ระคายเคือง ผิวดำคล้ำมากขึ้น ให้ใช้แป้งข้าวโพดบริสุทธิ์แทน และภายหลังการอาบน้ำควรใช้ผ้าเช็ดตัวที่อ่อนนุ่มซับเบา ๆ ให้แห้งแทนการเช็ดตัวปกติ
- ห้ามวางกระเป๋าน้ำร้อนหรือประคบน้ำแข็งบริเวณที่ฉายรังสี และควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัดเป็นเวลานาน ๆ หรือการสัมผัสบริเวณที่ฉายรังสีโดยตรงกับความร้อนหรือความเย็น เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้
- ควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือยาทาผิวหนังบริเวณฉายรังสีให้อยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำจากแพทย์เจ้าของไข้
- ควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เนื้อผ้านุ่ม เบาสบาย ระบายอากาศได้ดีที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เพื่อลดการเสียดสีผิวหนัง
- ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณลำคอ ผิวหนังอาจมีสีแดง แห้งตึง เกิดอาการคัน ดำคล้ำ และตกสะเก็ด หรือแตกเป็นแผล ห้ามถู แกะ เกา
- ผู้ป่วยไม่ควรว่ายน้ำ เนื่องจากในสระว่ายน้ำที่มีคลอรีน จะทำให้ผิวแห้งและเกิดการระคายเคืองได้ง่าย
- กรุณารักษาเส้น Skin Marker บริเวณที่ฉายรังสีที่แพทย์และเจ้าหน้าที่กำหนดไว้ เพราะถ้าเส้นลบต้องทำการตรวจสอบตำแหน่งและความถูกต้องใหม่ ทำให้เสียเวลาในการรักษา และกรุณาอย่าขีดเส้นที่ลบเลือนด้วยตนเอง
วิธีปฏิบัติตัวหลังเข้ารับการฉายรังสี
- ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวเหมือนกับระหว่างที่รับการรักษาด้วยการฉายรังสีต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน
- กรณีที่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ไข้สูง เลือดออกผิดปกติ ท้องเสียรุนแรงหรือเรื้อรัง คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง คลำเจอเนื้องอกเกิดขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ให้ติดต่อพบแพทย์ด่วน
- ปฏิบัติตนในการดูแลตนเองหลังการฉายรังสีตามที่แพทย์ผู้ดูแลแนะนำ
- ตรวจติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอตามวันและเวลานัดหมายของแพทย์