เนื้องอกต่อมไทมัส (THYMOMA) อย่าชะล่าใจหมั่นสังเกตตัวเอง

เนื้องอกต่อมไทมัส (THYMOMA) อย่าชะล่าใจหมั่นสังเกตตัวเอง


รู้จักต่อมไทมัส

ต่อมไทมัส (Thymus Gland) เป็นอวัยวะในร่างกายที่ทำหน้าที่เป็นทั้งเนื้อเยื่อน้ำเหลืองและต่อมไร้ท่อ โดยตั้งอยู่บริเวณหน้าต่อหัวใจและเส้นเลือดแดงใหญ่ หลังต่อกระดูกหน้าอก (Sternal Bone or Breastbone) ตัวต่อมมีลักษณะรูปร่างคล้ายกับผีเสื้อ มีหน้าที่หลักในการทำให้เม็ดเลือดขาวชนิด T cell เติบโตอย่างสมบูรณ์และผลิตฮอร์โมนไทโมซินเพื่อกระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดขาวชนิด T cell เช่นกัน ในภาวะปกติต่อมไทมัสจะเจริญเติบโตและขยายขนาดจนถึงช่วงวัยรุ่นและจะค่อย ๆ ฝ่อลงจนเป็นเพียงเนื้อเยื่อไขมันเมื่อเข้าสู่ช่วงผู้ใหญ่


Thymoma

เนื้องอกต่อมไทมัส (THYMOMA)

เนื้องอกต่อมไทมัสเป็นเนื้องอกที่พบได้บ่อยที่สุดในอวัยวะของช่องอกส่วนหน้า โดยพบบ่อยสุดในผู้ป่วยช่วงอายุ 40 – 50 ปี พบได้บ่อยเท่าเทียมกันทั้งเพศหญิงและเพศชาย ผู้ป่วย 1 ใน 3 ของโรคนี้จะไม่มีอาการ1 โดยตรวจพบจากการทำเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray) หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอก (Chest CT) เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเมื่อตรวจละเอียดแล้วจะมีภาวะโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (MG – Myasthenia Gravis) ร่วมด้วย โดยมีอาการแสดงแรกเริ่มคือ อาการหนังตาตกในช่วงบ่ายหรือเย็น หลังจากนั้นจะตามมาด้วยอาการแขนขาอ่อนแรง ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการหายใจไม่ไหวจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจเนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมอ่อนแรง ผู้ป่วยอีกบางส่วนจะมีโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเองในเนื้อเยื่ออื่น ๆ เช่น เกิดอาการเม็ดเลือดต่ำ เป็นต้น หรือในผู้ป่วยที่มีก้อนขนาดใหญ่จะมีอาการจากการกดเบียดของก้อนไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น เหนื่อยง่ายหรือไอจากการกดหลอดลม แขนหรือใบหน้าบวมจากการกดเส้นเลือดดำใหญ่ เป็นต้น


เนื้องอกต่อมไทมัส (THYMOMA)

ระยะของโรค

เนื้องอกต่อมไทมัสแบ่งเป็น 4 ระยะตามการกระจายไปอวัยวะข้างเคียง1 (Masaoka staging) ดังนี้

  1. เนื้องอกอยู่ในแคปซูลของต่อมทั้งหมด (Macroscopically and Microscopically Completely Encapsulated)
  2. เนื้องอกเริ่มมีภาวะลุกลามออกนอกผนังต่อมไทมัส โดยแบ่งเป็น
    • ลุกลามออกนอกผนังในระดับเซลล์ พบจากผลพยาธิวิทยาเท่านั้น (Microscopic Transcapsular Invasion)
    • ลุกลามออกนอกผนังไปยังเนื้อเยื่อไขมันข้างเคียง แต่ยังไม่ทะลุผนังหุ้มช่องอกหรือผนังหุ้มหัวใจ (Macroscopic invasion into surrounding fatty tissue or grossly adherent to but not through mediastinal pleura or pericardium)
  3. เนื้องอกลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง (Macroscopic invasion into neighboring organs (ie, pericardium, great vessels, or lung)
  4. ระยะกระจาย
    • กระจายไปยังช่องอกหรือช่องหัวใจ (Pleural or Pericardial Dissemination)
    • กระจายตามต่อมน้ำเหลืองหรือตามเส้นเลือด (Lymphogenous or Hematogenous Metastasis)

วิธีการรักษา

การรักษาเนื้องอกต่อมไทมัสนั้นอาศัยการผ่าตัดเป็นหลัก

  • ระยะที่ 1 การผ่าตัดอย่างเดียวเพียงพอสำหรับการรักษา
  • ระยะที่ 2 และ 3 อาศัยการผ่าตัดร่วมกับการฉายแสง
  • ระยะที่ 4 ใช้การผ่าตัด ฉายแสง และเคมีบำบัดร่วมกัน1

VATS Thymectomy

ผ่าตัดเนื้องอกต่อมไทมัสด้วยการส่องกล้อง (VATS Thymectomy)

การผ่าตัดเนื้องอกต่อมไทมัสด้วยการส่องกล้องเป็นการผ่าตัดโดยใช้เลนส์ร่วมกับอุปกรณ์ผ่าตัดยาวพิเศษผ่านทางช่องระหว่างซี่โครงโดยไม่มีการถ่างขยายซี่โครง มีความแตกต่างกับการผ่าตัดในอดีตที่ใช้การผ่าเปิดกระดูกหน้าอกทั้งท่อน (Median Sternotomy) กล่าวคือ ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดต่ำกว่า ขนาดแผลเล็กและอยู่ด้านข้างต่างกับแผลแบบเปิดที่อยู่กลางหน้าอก กลับไปทำงานได้เร็วขึ้น ไม่ต้องมีการตัดกระดูก ระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาลเฉลี่ย 1 – 3 วันเทียบกับ 5 – 7 วันสำหรับผ่าตัดแบบเปิด

มีการศึกษาจำนวนมากได้ทำการเปรียบเทียบการผ่าตัดส่องกล้องกับการผ่าตัดแบบเปิด2-6ในเนื้อต่อมไทมัสระยะที่ 1 – 2 และขนาดเล็กกว่า 4 – 5 เซนติเมตร พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันทางด้านการตัดก้อนออกได้หมดและโอกาสเนื้องอกเป็นซ้ำ แต่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติด้านความเจ็บปวด ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และระยะเวลาการพักฟื้น

สำหรับการผ่าตัดรักษาเนื้องอกต่อมไทมัสในปัจจุบัน สามารถทำการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตได้ในเร็ววัน นพ. ผดุงเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย

“การผ่าตัดส่องกล้องสามารถตัดเนื้องอกต่อมไทมัสออกได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากการผ่าตัดเปิด แต่อาการเจ็บปวดหลังผ่าตัดนั้นน้อยกว่า ระยะเวลานอนโรงพยาบาลสั้นกว่า และฟื้นตัวได้เร็วกว่า”

นพ.ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม

ข้อมูล :

นพ. ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางผ่าตัดส่องกล้องปอด โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพและโรงพยาบาลวัฒโนสถ

อ้างอิง :
  1. www.itmig.org/node/9
  2. Gu Z et al, Video-assisted thoracoscopic surgery versus open surgery for Stage I thymic epithelial tumours: a propensity score-matched study. Eur J Cardiothorac Surg. 2018 Jul 16.
  3. Qian L et al, A comparison of three approaches for the treatment of early-stage thymomas: robot-assisted thoracic surgery, video-assisted thoracic surgery, and median sternotomy. J Thorac Dis. 2017 Jul;9(7):1997-2005. doi: 10.21037/jtd.2017.06.09.
  4. Agatsuma H et al. Video-Assisted Thoracic Surgery Thymectomy Versus Sternotomy Thymectomy in Patients With Thymoma. Ann Thorac Surg. 2017 Sep;104(3):1047-1053
  5. Siwachat S et al. Asian J Surg. 2018 Jan;41(1):77-85Comparative clinical outcomes after thymectomy for myasthenia gravis: Thoracoscopic versus trans-sternal approach.
  6. Maniscalco P et al. Thorac Cardiovasc Surg. 2015 Apr;63(3):201-5Long-term outcome for early stage thymoma: comparison between thoracoscopic and open approaches.

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง