I–131 กลืนแร่รักษามะเร็งไทรอยด์ให้อยู่หมัด

I–131 กลืนแร่รักษามะเร็งไทรอยด์ให้อยู่หมัด


มะเร็งไทรอยด์มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยส่วนใหญ่มักจะคลำพบก้อนที่ลำคอ มะเร็งไทรอยด์ชนิดที่พบส่วนใหญ่มักมีการดำเนินโรคที่ดี แต่ยังอาจพบการแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่น เช่น ปอดและกระดูกได้ ซึ่งวิธีการรักษาหลักคือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์แล้วตามด้วยการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 (radioiodine, Iodine-131) เพื่อหวังทำลายเซลล์มะเร็งหลังผ่าตัดให้หมดไป


การรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน
-131 (radioiodine, Iodine-131) 

การรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 คือ การรักษาทางการแพทย์โดยใช้สารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 หรือ ไอโอดีน-131 (Iodine-131 (I-131)) ซึ่ง I-131 เป็นสารกัมมันตรังสีซึ่งมีความไม่เสถียรสามารถแผ่รังสีเบต้า (Beta Ray) เพื่อการทำลายเซลล์และยังแผ่รังสีแกรมม่า (Gamma Ray) ซึ่งสามารถนำมาใช้กับเครื่องถ่ายภาพทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์เพื่อบอกตำแหน่งของโรคได้ ซึ่งสารกัมมันตรังสีไอโอดีนส่วนใหญ่มักจะจับกับเซลล์ของไทรอยด์และมะเร็งไทรอยด์ชนิดที่มีการแบ่งตัว (Differentiated Thyroid Cancer) การบริหารสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของการรับประทานซึ่งอาจจะในรูปแบบของแคปซูล

การรักษาด้วยไทรอยด์ด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีนเป็นการรักษาเพิ่มเติมภายหลังการผ่าตัดซึ่งมักจะทำการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีนหลังจากการผ่าตัดไปแล้วอย่างน้อย 3 – 4 สัปดาห์ ซึ่งการรักษานั้นไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในผู้ป่วยทุกราย หากแต่ต้องขึ้นกับโอกาสการเป็นซ้ำของผู้ป่วย ซึ่งจะทำการประเมินด้วยแพทย์ผู้ชำนาญการที่เกี่ยวข้อง หากผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสี จะได้รับการประเมินจากแพทย์ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์สำหรับปริมาณรังสีที่เหมาะสมต่อไป 

ข้อห้าม (Absolute Contraindication) สำหรับการรักษาด้วยกัมมันตรังสีไอโอดีน คือ สตรีขณะตั้งครรภ์ หรือสตรีขณะให้นมบุตร


การเตรียมตัวก่อนการรักษา (1,2,3)

การเตรียมตัวก่อนการรักษาประกอบด้วยการรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนต่ำและการกระตุ้น Thyroid Stimulated Hormone (TSH) (TSH Stimulation)

การรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนต่ำ คือรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไอโอดีนที่น้อยกว่า 50 ไมโครกรัมต่อวัน นาน 1 – 2 สัปดาห์ก่อนการรักษาเพื่อทำให้เซลล์ไทรอยด์และ/หรือเซลล์มะเร็งจับสารกัมมันตรังสีไอโอดีนได้ดีขึ้น ซึ่งทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในการรักษามากขึ้น แนะนำเลี่ยงอาหารที่มีไอโอดีนสูง เช่น อาหารทะเลรวมทั้งอาหารที่มีส่วนประกอบของอาหารทะเล เช่น น้ำปลาและสาหร่ายทะเล รวมทั้งวิตามินที่มีส่วนผสมของไอโอดีน หรืออาหารที่มีการเติมไอโอดีน สำหรับเกลือที่ไม่ได้เติมไอโอดีนสามารถนำมาบริโภคได้ เพราะหากเลี่ยงการรับประทานเกลือแล้วอาจจะทำให้มีค่าโซเดียมในเลือดต่ำได้ (Hyponatremia) 

การกระตุ้นค่า TSH (TSH Stimulation) เพื่อให้ค่า Thyroid Stimulated Hormone (TSH) มากกว่า 30 mU/L มีทางหลัก 2 วิธีคือ

  1. การงดให้ฮอร์โมนไทรอยด์ที่ 3 – 6 สัปดาห์ หรือยังไม่เริ่มการให้ฮอร์โมนไทรอยด์หลังการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยที่พึ่งได้รับการผ่าตัด
  2. การฉีด Recombinant Human Thyrotropin (rhTSH)  ก่อนที่ให้สารกัมมันตรังสีไอโอดีน

I–131 กลืนแร่รักษามะเร็งไทรอยด์ให้อยู่หมัด

ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีโอโอดีน-131 (3)

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้แบ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนในช่วงแรก (Early – Onset) และช่วงหลัง (Late Onset) โดยภาวะแทรกซ้อนในช่วงแรกที่พบได้บ่อย เช่น  

  • Acute Radiation Sickness อาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ 
  • การอักเสบของต่อมไทรอยด์จากการได้รับรังสี (Radiation Thyroiditis) ซึ่งอาจพบว่ามีอาการบวมหรือเจ็บที่บริเวณหน้าคอ พบได้ร้อยละ 10 – 20 สามารถเกิดขึ้นได้ใน 48 ชั่วโมงแรกหลังการได้รับกัมมันตรังสีไอโอดีน 
  • การบวมของมะเร็ง ซึ่งหากมะเร็งไทรอยด์แพร่กระจายไปที่สมอง อาจทำให้สมองบวมและเกิดเลือดออกในสมอง
  • การอักเสบของต่อมน้ำลาย ซึ่งทำให้บวมใต้หูหรือใต้กรามทั้งสองข้าง
  • การรับรสที่ผิดปกติ ซึ่งอาการจะเป็นชั่วคราว

ภาวะแทรกซ้อนในช่วงหลังที่พบได้บ่อย เช่น ต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง ปากแห้ง น้ำลายเหนียว และเข้าสู่วัยหมดระดูเร็วขึ้น  


การปฏิบัติตัวหลังการรักษาด้วยไอโอดีนรังสี (4)

  1. ในช่วงสัปดาห์แรกหลังการรักษาแรก แนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อลดรังสีต่อบุคคลรอบข้าง โดยการลดการได้รับรังสีจากการแพร่ เช่น การใช้ระยะห่าง 2 เมตร หรือหากต้องเข้าใกล้ให้ใช้เวลาที่น้อย รวมทั้งการนอนคนเดียว หากไม่สามารถแยกห้องได้ควรแยกเตียงห่าง 2 เมตร รวมทั้งงดไปที่ชุมชน สถานที่แออัด สถานที่ที่ไม่สามารถเว้นระยะห่าง 
  2. ระวังการปนเปื้อนของไอโอดีนรังสีจากปัสสาวะ เหงื่อ และน้ำลาย เช่น นั่งปัสสาวะลงชักโครกและกดชักโครก 2 ครั้ง ล้างมือบ่อย ๆ ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำในภาชนะเดียวกับผู้อื่น แยกซักเสื้อผ้ากับผู้อื่น
  3. คุมกำเนิดอย่างน้อย 6 – 12 เดือน 
  4. รับประทานฮอร์โมนไทรอยด์ตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอและติดตามพบแพทย์ตามนัด

แพทย์ที่ชำนาญการด้านการใช้ไอโอดีนรังสี-131 เพื่อรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์

ผศ.พญ.อุษณี เตชะวิจิตร์ แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการดูแลรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์

โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ พร้อมให้การดูแลรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งที่มีความชำนาญ พร้อมทีมสหสาขา และเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อดูแลผู้ป่วยให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง


References:

  1. Haugen B, Alexander E, Bible K, et al.2015 American thyroid associate management guideline for adult patients with thyroid nodules and differentiated thyroid cancer. Thyroid. 2016.26(1): 1-133.
  2. Avram A, Giovanella L, Greenspan B, et al. SNMMI procedure standard/EANM practice guideline for nuclear medicine evaluation and therapy of differentiated thyroid cancer: Abbreviated version. JNM.2022. 63(6):15N-35N.
  3. Luster M, Clarke S.E., Dietlein M, et al. Guidelines for radioiodine therapy of differentiated thyroid cancer. EJNMMI. 2008. 35:1941-1959.
  4. Dauer L.T., Hurley J. R, Brierley J. d. et al. radiation safety in the treatment of patients with thyroid disease by radioiodine I-131: practice recommendation of the American thyroid association.

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง