เครื่องเจาะดูดชิ้นเนื้อด้วยระบบสุญญากาศ

เครื่องเจาะดูดชิ้นเนื้อด้วยระบบสุญญากาศ


การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์เป็นการตรวจมาตรฐานเพื่อตรวจหาความผิดปกติของเต้านม เมื่อตรวจพบก้อนเนื้อหรือหินปูนบริเวณเต้านม การเจาะชิ้นเนื้อบริเวณเต้านมเพื่อตรวจวินิจฉัยเป็นวิธีที่ทำได้สะดวกและมีความชัดเจนสูง ซึ่งในอดีตเครื่องมือในการเจาะชิ้นเนื้อจะมุ่งเน้นที่การตรวจวินิจฉัยเป็นหลัก แต่ด้วยการพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ทำให้ปัจจุบันมีเครื่องเจาะดูดชิ้นเนื้อเต้านมด้วยระบบสุญญากาศ (Vacuum Breast Biopsy) ที่ช่วยตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาโดยการเจาะดูดเพื่อเก็บชิ้นเนื้อออกมา นอกจากแผลเล็ก เจ็บน้อย ยังช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัดจึงไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลและสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติอย่างรวดเร็ว

ก้อนเนื้อ VS หินปูน

สำหรับความผิดปกติที่พบเจอบริเวณเต้านมนั้น ส่วนใหญ่จะพบเป็นลักษณะก้อนเนื้อหรือหินปูน ซึ่งหากทำการเจาะตรวจชิ้นเนื้อแล้วไม่มีความผิดปกติ แพทย์มักจะนัดติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในกรณีที่พบว่าเป็นหินปูนนั้น มักเป็นกลุ่มหินปูนที่กระจายบริเวณเต้านม หรือมีลักษณะเกาะเป็นกลุ่ม หากหินปูนที่พบมีลักษณะไม่อันตราย แพทย์จะนัดติดตามอาการ แต่หากพบหินปูนที่พบมีการเกาะตัวกันเป็นกลุ่ม ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้อร้ายหรืออาจกลายเป็นเนื้อร้ายในอนาคตได้ถ้าทิ้งไว้ ปกติแล้วหินปูนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ

  1. หินปูนธรรมดา เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การอักเสบ การให้นมลูก อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการกระทบกระแทก ก้อนเนื้อหรือซีสต์ที่ฝ่อตัวลงแล้วมีแคลเซียมมาเกาะ เป็นต้น โดยแพทย์มักจะใช้การนัดติดตามเพื่อดูอาการ
  2. หินปูนน่าสงสัย เป็นหินปูนที่สงสัยว่าเป็นมะเร็ง เนื้อร้าย หรืออาจพัฒนาเป็นมะเร็งได้ แพทย์จะแนะนำให้เจาะตรวจชิ้นเนื้อโดยเร็วที่สุด

ไม่ว่าจะเป็นก้อนเนื้อหรือหินปูนมักไม่แสดงอาการ ดังนั้นผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจแมมโมแกรม แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงจากพันธุกรรมควรเข้ารับการตรวจเช็กตั้งแต่อายุ 35 ปี  เพื่อลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม

หลักการทำงานของ Vacuum Breast Biopsy

เครื่องเจาะดูดชิ้นเนื้อเต้านมด้วยระบบสุญญากาศ (Vacuum Breast Biopsy) ช่วยเจาะและตัดชิ้นเนื้อเต้านมได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้เข็มเจาะเพียงครั้งเดียวสามารถดูดออกมาได้อัตโนมัติด้วยระบบสุญญากาศ หลักการทำงานของเครื่องนี้จะควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทุกทิศทางผ่านทางหน้าจอ โดยตัวเข็มสำหรับเจาะจะมีช่องสำหรับใส่ยาชาเฉพาะที่เพื่อฉีดเข้าไปบริเวณก้อนหรือตำแหน่งที่ต้องการเจาะ หากผู้ป่วยยังรู้สึกเจ็บสามารถเติมยาชาลงในตัวเข็มโดยไม่ต้องดึงเข้าดึงออก แต่เนื่องจากตัวเข็มมีขนาดใหญ่กว่าเข็มเจาะทั่วไปเล็กน้อย อาจทำให้มีเลือดออกหรือเลือดคั่ง ซึ่งสามารถหายได้เองภายใน 1 – 2 สัปดาห์ โดยอาศัยการประคบเย็นช่วยได้

เมื่อทราบตำแหน่งที่ชัดเจนแล้ว แพทย์จะเปิดแผลเล็กประมาณ 3 – 5 มิลลิเมตร แล้วนำเครื่องเจาะตัดชิ้นเนื้อเต้านมที่ใช้ระบบเจาะตัดและดูดด้วยระบบสุญญากาศ (Vacuum) ที่มีลักษณะเป็นเข็มลงไปเจาะตัดและดูดเพื่อนำก้อนหินปูนหรือชิ้นเนื้อออกมา ซึ่งเครื่องนี้มีตลับสำหรับเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อพร้อมไส้กรอง (Tissue Filter) ต่อในชุดเดียวกับเข็มเพื่อให้เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องคีบตัวอย่างชิ้นเนื้อออกทีละชิ้นต่อการเจาะดูดชิ้นเนื้อ 1 ครั้ง โดยเครื่องมือนี้สามารถดูดก้อนหรือชิ้นเนื้อในขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตรได้ทั้งหมด โดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์เป็นตัวกำหนดทิศทางและตำแหน่ง และตรวจสอบว่าก้อนสามารถดูดออกได้หมด สำหรับกลุ่มหินปูนที่น่าสงสัยจะใช้แมมโมแกรมเป็นตัวช่วยบอกทิศทางและตำแหน่ง สำหรับระยะเวลาในการรักษา ถ้าก้อนไม่ใหญ่มากอาจใช้เวลาไม่เกิน 30 – 60 นาที

นอกจากนี้เครื่องเจาะดูดชิ้นเนื้อเต้านมด้วยระบบสุญญากาศยังสามารถวางคลิปโลหะเล็ก ๆ เพื่อเป็นตัวบอกตำแหน่งในกรณีที่อาจต้องมีการผ่าตัดหรือทำหัตถการอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งคลิปโลหะนี้ไม่เป็นอันตรายกับร่างกายและสามารถอยู่ในร่างกายได้ตลอด

ข้อดีของ Vacuum Breast Biopsy

ข้อดีของเครื่องเจาะดูดชิ้นเนื้อเต้านมด้วยระบบสุญญากาศ (Vacuum Breast Biopsy) ได้แก่

  • ทดแทนการรักษาด้วยการผ่าตัด
  • ไม่ต้องเสี่ยงจากภาวะดมยาสลบ
  • ไม่มีแผลเป็นขนาดใหญ่ มีเพียงแผลเล็กขนาด 3 – 5 มิลลิเมตร
  • ฟื้นตัวเร็ว ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
  • ลดความเจ็บปวดระหว่างและหลังผ่าตัด
  • ลดความบอบช้ำของเนื้อเยื่อเต้านม

ข้อจำกัดการรักษา

  • หินปูนหรือก้อนเนื้อที่พบควรมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร
  • หินปูนหรือก้อนเนื้อที่พบต้องไม่มีลักษณะที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งสูง เนื่องจากไม่สามารถใช้รักษาก้อนมะเร็งได้
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาเลือดแข็งตัวผิดปกติ โรคเลือด ต้องปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  • หลังทำการรักษางดยกของหนักและกิจกรรมที่ต้องใช้แรงเยอะเป็นเวลา 1 สัปดาห์
  • หากพบก้อนเนื้อที่เป็นมะเร็งแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง