รู้จัก..โรคเลือด มะเร็งร้ายเม็ดเลือด

รู้จัก..โรคเลือด มะเร็งร้ายเม็ดเลือด


หากเอ่ยถึง…“โรคเลือด” หลายท่านอาจรู้สึกคุ้นหูและคิดว่าโรคเลือดก็คือ…“ภาวะโลหิตจาง” หรือไม่ก็…“โรคธาลัสซีเมีย” แต่จริง ๆ แล้วโรคเลือดมีความหมายกว้างและครอบคลุมโรคต่าง ๆ มากกว่านั้น โดยจะรวมไปถึง…โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกฝ่อ

ในประเทศไทยพบว่ามีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคระบบโลหิตนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกายคนเรา แม้ร่างกายจะมีกระบวนการจัดการความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ถ้าวันใดเกิดความไม่สมดุลในร่างกาย เช่น วิตกกังวล การติดเชื้อ การได้รับสารเคมีบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน…

ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เสียสมดุลของกลไกทางภูมิคุ้มกัน “เซลล์ที่ผิดปกติ” ก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและควบคุมไม่อยู่จนกลายเป็น “มะเร็ง” ในที่สุด

ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวว่า โรคระบบโลหิตวิทยาเป็นกลุ่มโรคที่พบได้บ่อยทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันที่พบความรุนแรงและรักษาได้ยากเมื่อเทียบกับโรคมะเร็งทั่วไปนั่นเป็นเพราะว่า “ระบบเลือด” เป็นระบบที่สำคัญของร่างกายรองจากปอดและหัวใจ ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

โรคทางระบบโลหิตวิทยา หรือโรคเลือด หมายถึง โรคหรือความผิดปกติของเม็ดเลือด ไขกระดูก ระบบ Reticuloendothelial ต่อมน้ำเหลืองและระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งปัจจัยของการแข็งตัวของเลือด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มมะเร็งระบบเลือด

    ซึ่งพบได้บ่อย เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) มะเร็งไขกระดูก (Multiple Myeloma หรือ MM)

  2. กลุ่มโรคเลือดที่ไม่ใช่มะเร็ง

    ซึ่งแบ่งได้ดังนี้

    • โรคที่มีภาวะโลหิตจาง เช่น โรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม โลหิตจางจากการขาดเหล็ก โลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 และโฟเลต ผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายแล้วเหนื่อย ในกรณีที่เป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
    • โรคที่มีความผิดปกติของไขกระดูก เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ เกิดจากการที่ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดได้น้อยลง ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการซีด เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง มีจ้ำเลือด เลือดออก เป็นไข้ และมีโรคติดเชื้อ
    • โรคมะเร็งระบบเลือด เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน (Acute Leukemia) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง (Chronic Leukemia) โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันจะมีจ้ำเลือด จุดเลือดออก เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดประจำเดือนออกมาก มีไข้และโลหิตจาง ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังมีม้ามโต หรือต่อมน้ำเหลืองโต ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองพบมีต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ ก้อนโตเร็ว แต่ไม่เจ็บ
    • โรคที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น โรคเลือดไหลไม่หยุด โรคเลือดออกผิดปกติจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคตับ หรือภาวะลิ่มเลือดกระจายทั่วไปในหลอดเลือด
    • โรคที่มีการอุดตันของหลอดเลือดดำที่พบบ่อย คือ หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน ทำให้มีขาบวมข้างเดียว ก้อนเลือดอาจหลุดไปอุดที่หลอดเลือดในปอดได้

ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ อธิบายว่า โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นมะเร็งที่ร้ายที่สุด เฉพาะเฉียบพลัน เอ็กซ์คิวลูคีเมีย เราควรรู้ก่อนว่าเป็นอย่างไร ปกติแล้วเม็ดเลือดมี 3 ชนิด เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด เม็ดเลือดที่อยู่ในเลือดมีคุณสมบัติอยู่สอง อย่างคือ หนึ่ง เป็นเม็ดเลือดตัวที่โตเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ทำหน้าที่ได้

“เม็ดเลือดแดงทำหน้าที่นำออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่วนเม็ดเลือดขาวก็เหมือนทหารทำหน้าที่ป้องกัน…ต่อสู้เชื้อโรค ส่วนเกล็ดเลือดก็มีหน้าที่ทำให้เลือดหยุด”

แล้วคุณสมบัติอันที่สองก็คือ จำนวนเม็ดเลือดทั้ง 3 ชนิดที่ว่านี้ต้องมีจำนวนพอเหมาะพอดี ไม่มากไปไม่น้อยไป ซึ่งมีโรงงานที่สร้างเรียกว่าไขกระดูกอยู่ในโพรงกระดูก พวกเราส่วนใหญ่ ผู้ใหญ่ก็อยู่ในกระดูกแบน ๆ เช่น กระดูกกะโหลกศีรษะ กระดูกสันหน้าอก กระดูกสะโพก

การสร้างเม็ดเลือดในไขกระดูกก็เริ่มต้นจากเซลล์ตัวแรกที่เรียกว่า “สเต็มเซลล์” หรือ “เซลล์ต้นกำเนิด” แล้วก็เจริญตัวถัดไปแยกเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด หลังจากนั้นจะมีการแบ่งตัวอีก 4 – 5 ขั้นตอน จนกระทั่งได้เป็นตัวหนุ่มสาวถึงจะปล่อยไปในเลือด ความต่างก็คือว่า เม็ดเลือดที่อยู่ในไขกระดูกยังเป็นเม็ดเลือดที่ทำหน้าที่ไม่ได้ พอโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ทำหน้าที่ได้ก็ปล่อยออกไปในเลือด

“ลูคีเมีย หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นความผิดปกติของตัวอ่อนเม็ดเลือดขาวระยะที่ถัดมาจากเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ โดยที่มีการเพิ่มจำนวน เพิ่มแบบมะเร็ง เพิ่มแบบไม่หยุดยั้ง คือมีการเพิ่มตลอดเวลา”

“ลูคีเมีย” แบ่งแยกย่อยไปได้อีก 2 ชนิด ชนิดเฉียบพลันกับชนิดเรื้อรัง ชนิดเฉียบพลัน จะไม่มีการเจริญเป็นตัวที่แก่เลย เป็นแต่ตัวอ่อนทั้งนั้น พวกนี้จะสะสมอยู่ในไขกระดูกทำให้ไปเบียดการสร้างเม็ดเลือดปกติของไขกระดูก เพราะฉะนั้นก็จะมีผลทำให้เม็ดเลือดปกติลดลง ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดลดลง

พอลดลงก็จะมีอาการผิดปกติ เช่น เม็ดเลือดแดงนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีน้อย อวัยวะต่าง ๆ ก็ขาดเลือดก็เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ซีด ส่วนเม็ดเลือดขาวพอต่ำก็มีไข้ เพราะเกี่ยวข้องกับการทำลายเชื้อโรค แล้วเกล็ดเลือดต่ำก็มีผลในเรื่องเลือดออกผิดปกติ มีเลือดออกตามผิวหนัง มีจ้ำเลือดใหญ่ ๆ หรือว่ามีเลือดออกจากอวัยวะสำคัญอื่น เช่น จมูก ไรฟัน หรือแม้กระทั่งปัสสาวะเป็นเลือด

“การรักษาต้องเคมีบำบัดก่อน ให้ยาเคมีบำบัดไปฆ่า ทำลาย เซลล์มะเร็งลูคีเมียในไขกระดูก พอให้ยาปุ๊บ…เซลล์ในไขกระดูกก็ถูกทำลายไปด้วย ฉะนั้นการให้ยาไม่ใช่ว่าจะให้ทีเดียวตลอดเวลา แต่ต้องให้เป็นพัก ๆ 3…4…5 วัน 7 วันครั้ง พอให้เสร็จแล้วก็หยุดเพื่อให้ไขกระดูกฟื้นตัว”

คำว่าหายคือเซลล์มะเร็งในไขกระดูกน้อยกว่า 5% … การสร้างเม็ดเลือดในไขกระดูกเป็นปกติ

ปัญหาสำคัญมีว่า หายแล้วแต่โรคมะเร็งก็มีโอกาสกลับมาเป็นขึ้นอีก ปัจจุบันมีวิทยาการใหม่ในการรักษาด้วย “การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด” หรือที่เรียกว่า “การปลูกถ่ายไขกระดูก” เข้ามาใช้ ก็คือการให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงแล้วตามด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์หรือการปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้ไขกระดูกของคนอื่น

“โรคจะเป็นกลับมาอีก เพราะมีเซลล์มะเร็งลูคีเมียเหลืออีกนิด ๆ หน่อย ๆ ในไขกระดูก ตัวที่เหลือนี้เอง พอเพิ่มจำนวนขึ้นก็ทำให้เป็นโรคกลับมา…เราต้องฆ่าตัวที่เหลือ การให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงเข้าไปกับใช้สเต็มเซลล์ นอกจากสร้างเม็ดเลือดใหม่ ในเซลล์ไขกระดูกยังมีตัวที่ไปทำลายเซลล์ลูคีเมียโดยตรง ทำให้โรคหายขาดได้”

อีกข้อควรรู้…เวลาปลูกถ่าย คนให้ที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็นพี่น้องที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกัน แต่ว่าพี่น้องพ่อแม่เดียวกันโอกาสที่จะเหมือนกันก็มีแค่ 25% เท่านั้นเอง

ถ้าบางคนไม่มีพี่น้องหรือเช็กแล้วว่าให้ไม่ได้ ไม่เข้ากัน ก็ต้องหาคนอื่น ตอนนี้มีอยู่ 2 ทางเลือก

  1. หาจากผู้บริจาคประเทศไทย มีผู้บริจาคขึ้นทะเบียนที่สภากาชาดไทยดูว่าเข้ากันได้ก็เอามาใช้
  2. สามารถใช้ญาติพี่น้องที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันแค่ครึ่งเดียวได้ ยกตัวอย่าง เช่น พ่อแม่ให้ลูก ลูกให้พ่อแม่ หรือพี่ให้น้องเป็นเทคนิคปัจจุบันที่สามารถปลูกถ่ายให้ประสบความสำเร็จได้

“เซลล์ผิดปกติ” ที่จะกลายเป็น “มะเร็ง” เกิดขึ้นตลอดเวลาในคนปกติ แต่ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันเซลล์ผิดปกติที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลานี้อยู่แล้ว อย่าเครียด อย่าจิตตก อย่ามีทุกข์…“อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง