รู้ทันป้องกันมะเร็งปอด

รู้ทันป้องกันมะเร็งปอด


มะเร็งปอดและการคัดกรอง

จากข้อมูลทางสถิติของ WHO จนถึงปัจจุบันพบว่า โรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดเทียบเท่ากับมะเร็งเต้านม เป็นโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์เป็นอันดับแรกในโรคมะเร็งทั้งหมด เนื่องจากเวลาที่ตรวจพบโรค ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งจะอยู่ในระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นแล้ว จึงนับว่าเป็นโรคที่รุนแรงเป็นอย่างยิ่ง ในทางกลับกัน หากเราสามารถตรวจพบผู้ป่วยตั้งแต่ระยะที่ 1 คนไข้จะมีโอกาสหายขาดได้สูงกว่ามาก

มีการศึกษามากมายในอดีตเกี่ยวกับการ “คัดกรองมะเร็งปอด” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เสมหะหาเซลล์มะเร็ง (sputum cytology) และเอกซเรย์ปอด (chest X-Ray) แต่จากการศึกษาวิธีการตรวจเหล่านั้นพบว่าไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้ เอกซเรย์ปอดนั้นไม่สามารถค้นพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่เป็นก้อนทึบ (subsolid nodule/ground glass nodule) เพราะความละเอียดไม่เพียงพอ ดังนั้นถึงแม้ว่าตรวจเอกซเรย์ปอดแล้วไม่เจอจุดในปอด (lung nodule) แพทย์จะไม่สามารถยืนยันชัดเจนได้ว่าไม่มีมะเร็งปอด ในทางกลับกันอาจทำให้ผู้รับการตรวจเข้าใจผิดไปว่าตนเองไม่มีโรคร้ายนี้ ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียในภายหลังได้

จนกระทั่งมีการศึกษาในปี 2011 มีการตีพิมพ์ผลงานของ National Lung Screening Trial (NLST)1 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่คัดกรองใน “ประชากรที่มีความเสี่ยงสูง (high risk group)” แสดงให้เห็นว่าการใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยใช้รังสีต่ำ (Low-dose CT chest) เป็นตัวคัดกรอง เมื่อเทียบกับเอกซเรย์ปอด(chest X-Ray) สามารถลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้สูงมากถึง 20% ทำให้ปัจจุบันสมาคมแพทย์ทั่วโลก เช่น NCCN (National Comprehensive Cancer Network)  ASCO (American Society of Clinical Oncology) และ ACCP  (American College of Chest Physicians) ได้แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในประชากรที่มีความเสี่ยงสูง ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยใช้รังสีต่ำ (Low-dose CT chest)

รู้ทันป้องกันมะเร็งปอด

ประชากรที่มีความเสี่ยงสูง (High Risk Group)

จาก NLST ต้องมีข้อกำหนดครบทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

  • ผู้ที่มีอายุ 55 ถึง 80 ปี
  • ผู้ที่กำลังสูบบุหรี่อยู่หรือเคยสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 30 ปีและมากกว่า 1 ซองต่อวัน (หรือเท่ากับ 30 pack-year)
    ** ยกตัวอย่างเช่น
    • สูบบุหรี่มา 15 ปี เฉลี่ยวันละ 2 ซอง
    • สูบบุหรี่มา 30 ปี เฉลี่ยวันละ 1 ซอง
    • สูบบุหรี่มา 20 ปี เฉลี่ยวันละ 1 ซองครึ่ง
      **
      จำนวน pack – year คือ จำนวนปีที่สูบ X จำนวนซองบุหรี่ที่สูบต่อวัน
  • ผู้ที่หยุดสูบบุหรี่มาไม่เกิน 15 ปี

นอกเหนือจากการสูบบุหรี่แล้ว การวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวพบว่า มีตัวแปรอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่

  • อายุ
  • เพศ
  • เชื้อชาติ
  • ระดับการศึกษา
  • ประวัติมะเร็งปอดของครอบครัว ประวัติมะเร็งอื่นของผู้คัดกรอง รวมถึงประวัติการเป็นถุงลมโป่งพอง

ประชากรที่มีความเสี่ยงปานกลาง (Moderate Risk Group)

ประชากรที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงปานกลาง คือ กำลังสูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 20 ปีและมากกว่า 1 ซองต่อวัน (20 pack-year) หรือมีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น มีบุคคลอื่นในครอบครัวสูบ (second-hand smoker) อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ธูป ฝุ่นละอองควัน เป็นต้น ในปัจจุบันยังไม่มีข้อแนะนำให้คัดกรองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยใช้รังสีต่ำ แต่กำลังมีการศึกษาในประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งทำให้ข้อแนะนำอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

ความเสี่ยงอื่น ๆ

รู้ทันป้องกันมะเร็งปอด

ธูป (Incense)

ควันจากธูปนั้นแตกต่างกับบุหรี่โดยที่ธูปนั้นเป็นผลกระทบโดยอ้อมคล้ายกับผู้ได้รับบุหรี่มือสอง (second-hand smoker) ส่วนบุหรี่นั้นเป็นการสูบเข้าปอดโดยตรง ทำให้การวัดปริมาณการได้รับทำได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตามมีการศึกษาในสัตว์ทดลองหรือการเก็บข้อมูลย้อนหลังในมนุษย์พบว่าการได้รับควันธูปเป็นระยะเวลานานมีผลกระทบกับเนื้อเยื่อปอดและอาจจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งในอนาคตได้ ดังนั้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปอด เช่น มีประวัติมะเร็งปอดในครอบครัว เป็นโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีควันจากธูปหนาแน่นหรือใส่หน้ากากที่กรองอนุภาคขนาดเล็กได้

รู้ทันป้องกันมะเร็งปอด

ฝุ่นละอองควัน 2.5 (PM 2.5)

ฝุ่นละอองควัน (Particulate Matter หรือ PM) 2.5 คือ สสารที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เกิดจากควันรถ การเผาไหม้ การก่อสร้าง ฝุ่นข้ามแดน เป็นต้น ซึ่งมักพบในเมืองใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น กรุงเทพฯ นิวเดลี ฮานอย ปักกิ่ง เป็นต้น การวัดความหนาแน่นจะใช้ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index, AQI) สารเหล่านี้เมื่อเข้าไปในหลอดลมของสิ่งมีชีวิตจะก่อให้เกิดการระคาย ตามด้วยการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด ส่งผลกระทบต่อคนที่มีโรคปอดอักเสบ  โรคหัวใจขาดเลือด รวมทั้งโรคมะเร็งปอดได้ โดยมีการศึกษาจำนวนมากจากประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา7-9 พบว่า มีผลต่อการเกิดมะเร็งปอด และการเสียชีวิตจากมะเร็งปอด ดังนั้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในช่วงเวลาที่ PM 2.5 มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกอาคาร ใช้เครื่องฟอกอากาศ หรือหากจำเป็นต้องออกนอกอาคารควรใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองควัน

รู้ทันป้องกันมะเร็งปอด
ที่มา : http://aqicn.org/city/bangkok/

รู้ทันป้องกันมะเร็งปอด

บุหรี่ไฟฟ้า (E-Cigarettes)

บุหรี่ไฟฟ้า (Electronic cigarettes, E-cigarettes) มีส่วนประกอบหลักคือ นิโคติน และผสมด้วยตัวทำละลาย (Propylene Glycol) กลิ่น และรสต่าง ๆ มีจุดประสงค์คือ ลดการใช้บุหรี่ที่มีส่วนผสมของสารพิษคือ สารหนู (Arsenic) ตะกั่ว (lead) และอื่น ๆ อีกมากมาย ยังไม่มีการศึกษาโดยตรงที่ทดสอบการเกิดมะเร็งปอดกับ E-cigarettes แต่มีการศึกษาว่าการใช้ E-cigarettes ก่อให้เกิดการอักเสบกับทางเดินหายใจได้ถึงแม้ว่าเมื่อเทียบกับบุหรี่แล้วน้อยกว่ามาก11-12 อย่างไรก็ตามมีความกังวลสำหรับการที่มีผลเสียน้อยกว่าบุหรี่ของ  E-cigarettes ทำให้ประชากรวัยรุ่นตัดสินใจลองใช้ได้ง่ายขึ้นและนำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นในอนาคต13

รู้ทันป้องกันมะเร็งปอด

ห่างไกลมะเร็งปอด ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสการรักษา

American Cancer Society แนะนำให้คนที่สูบบุหรี่หนัก (มากกว่า 30 pack-year) และยังสูบบุหรี่อยู่ หรือผู้ที่เคยสูบบุหรี่แต่เลิกสูบไปแล้วภายใน 15 ปีที่ผ่านมาและมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปต้องได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดโดยใช้รังสีต่ำ (low dose CT chest) เป็นประจำปีละครั้ง

 

“เพราะการตรวจพบมะเร็งปอดระยะเริ่มแรก

นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายแล้ว

ยังสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยในระยะยาวอีกด้วย”


Reference
  1. Reduced Lung-Cancer Mortality with Low-Dose Computed Tomographic Screening. N Engl J Med 2011;365:395-409
  2. Evaluation of the Lung Cancer Risks at Which to Screen Ever- and Never-Smokers: Screening Rules Applied to the PLCO and NLST Cohorts.PLOS MED 2014;11:1-13
  3. Environ Toxicol. 2017 Nov;32(11):2379-2391. doi: 10.1002/tox.22451. Epub 2017 Jul 19.
  4. Rev Environ Health. 2016 Mar;31(1):155-8. doi: 10.1515/reveh-2015-0060.
  5. Environ Health Perspect. 2011 Nov;119(11):1641-6. doi: 10.1289/ehp.1002790.
  6. Environ Health Perspect. 2010 Sep;118(9):1257-60. doi: 10.1289/ehp.0901587. Epub 2010 May 14.
  7. Cancer. 2008 Oct 1;113(7):1676-84. doi: 10.1002/cncr.23788.
  8. BMJ Open. 2015 Nov 24;5(11):e009452. doi: 10.1136/bmjopen-2015-009452.
  9. Am J Respir Crit Care Med. 2011 Dec 15;184(12):1374-81. doi: 10.1164/rccm.201106-1011OC. Epub 2011 Oct 6
  10. Environ Res. 2018 Jul;164:585-596. doi: 10.1016/j.envres.2018.03.034. Epub 2018 Apr 4.
  11. Cancer Epidemiol Biomarkers Prev. 2017 Aug;26(8):1175-1191. doi: 10.1158/1055-9965.EPI-17-0358
  12. Proc Natl Acad Sci U S A. 2018 Feb 13;115(7):E1560-E1569. doi: 10.1073/pnas.1718185115
  13. Nicotine Tob Res. 2018 Apr 16. doi: 10.1093/ntr/nty076

นพ.ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง