มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน

ข้อเท็จจริง

  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันมีความรุนแรงกว่าโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง โดยเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ซึ่งมีสาเหตุไม่แน่ชัด แต่สิ่งสำคัญคือการตรวจเช็กร่างกายอยู่เสมอและหมั่นสังเกตความผิดปกติของตนเอง เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนลุกลาม
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เกิดจากการผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวระยะตัวอ่อนในไขกระดูก (Blast) ที่เพิ่มจำนวนขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน และรบกวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดปกติชนิดอื่น ๆ นอกจากนั้นเม็ดเลือดที่เป็นมะเร็งยังสามารถไปสะสมตามอวัยวะอื่น ๆ ได้ เช่น ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง หรือผิวหนัง

ชนิดของโรค

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน สามารถจำแนกได้เป็น 2 ชนิดหลัก คือ

  1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ (Acute Myeloid Leukemia – AML) เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิลอยด์ พบได้บ่อยกว่าชนิดลิมฟอยด์ ถึงแม้มะเร็งชนิดนี้จะสามารถพบได้ทุกช่วงอายุ แต่มักจะพบบ่อยในผู้ป่วยสูงอายุ
  2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมฟอยด์ (Acute Lymphoblastic Leukemia – ALL) เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิดลิมฟอยด์ มักพบในผู้ป่วยอายุน้อยหรือผู้ป่วยสูงอายุ อาจพบภาวะต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยได้ มักการตอบสนองต่อการรักษาดีกว่า

การดำเนินโรคของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันมักรุนแรงและรวดเร็วในระยะเป็นวันหรือสัปดาห์โดยสัมพันธ์กับระดับจำนวนเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยมักมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็วหากไม่ได้รับการรักษา

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน  อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ได้แก่

  • อายุที่เพิ่มขึ้น
  • ผู้ป่วยเคยได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีหรือยาเคมีบำบัด
  • มีประวัติได้รับรังสีขนาดสูง เช่น ระเบิดนิวเคลียร์
  • มีประวัติได้รับสารเคมีบางชนิด เช่น เบนซีน (Benzene) ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde)
  • ผู้ป่วยโรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome)
  • ผู้ป่วยโรคไขกระดูกเสื่อม MDS (Myelodysplastic Syndrome)
  • ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น HTLV-1
  • ผู้ป่วยบางรายสามารถเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันโดยที่ไม่พบปัจจัยเสี่ยงใด ๆ

อาการ

  • อ่อนเพลีย
  • ซีด
  • มีจุดเลือดออกผิดปกติ
  • ไข้ไม่ทราบสาเหตุ
  • น้ำหนักลดผิดปกติ
  • คลำได้ก้อน
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ท้องแน่นโตจากตับม้ามโต
  • เลือดออกตามไรฟันหรือมีเหงือกบวมอักเสบผิดปกติ
  • อาการหอบเหนื่อยจากการที่เม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวนมากผิดปกติจนไปอุดตันเส้นเลือดในปอด (Hyperleukocytosis)

การตรวจวินิจฉัย

  • เจาะตรวจไขกระดูก เพื่อนับจำนวนเซลล์ตัวอ่อน ตรวจย้อมการติดสีจำเพาะเพื่อจำแนกชนิดของมะเร็ง ตรวจโครโมโซมเพื่อประเมินระยะความเสี่ยงของโรค
  • ตรวจเลือดเพื่อนับจำนวนเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด รวมไปถึงค่าทางชีวเคมีเพื่อประเมินการทำงานของตับ ไต เกลือแร่ และกรดยูริก
  • ตรวจค่าการแข็งตัวของเลือดในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันบางชนิดที่มักมีความเสี่ยงต่อการเลือดออกง่าย เช่น AML-M3
  • เจาะตรวจน้ำไขสันหลังในกรณีที่สงสัยภาวะลุกลามเข้าระบบประสาท

การบำบัดรักษา

ทีมแพทย์ประเมินสภาพร่างกาย อายุของผู้ป่วย และชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวก่อนที่จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสม ได้แก่

  • ยาเคมีบำบัด ซึ่งอาจให้ในรูปยาฉีดหรือยากิน หรือทั้งสองแบบ ยาเคมีบำบัดจะเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง เพื่อให้ไขกระดูกสามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดปกติออกมาได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักต้องได้รับเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดระหว่างรักษา รวมไปถึงยาปฏิชีวนะหากมีอาการติดเชื้อ
  • การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากเซลล์ผู้อื่น (Allogeneic Stem Cell Transplantation) เป็นการรักษาที่สามารถทำให้โรคหายขาดได้ การรักษาแบบนี้ต้องทำในระยะที่โรคสงบหลังได้รับยาเคมีบำบัดแล้ว ทีมแพทย์จะให้คำแนะนำเรื่องการหาผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเพื่อย่นระยะเวลาการรอปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
  • การเปลี่ยนถ่ายพลาสมาเพื่อลดจำนวนเม็ดเลือดขาวอย่างรวดเร็ว (Leukapheresis) จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงมาก หรือมีอาการของเม็ดเลือดขาวอุดตันตามหลอดเลือด (Hyperleukocytosis) เช่น หอบเหนื่อย ซึม สับสน
  • การให้ยาเคมีบำบัดทางน้ำไขสันหลัง (Intrathecal Chemotherapy) เฉพาะในรายที่มีภาวะการลุกลามเข้าสมองหรือน้ำไขสันหลัง หรือเพื่อป้องกันการกระจายของมะเร็งเข้าระบบสมองและน้ำไขสันหลัง
  • การฉายแสง (Radiation) จะพิจารณาให้ในผู้ป่วยบางรายที่มีมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันที่มีความเสี่ยงในการลุกลามเข้าสมอง เช่น ALL

“การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคนี้ คือ ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตอาการติดเชื้อ เลือดออก กินอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่ สะอาด”

จุดเด่น

  • ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งโลหิตวิทยาที่พร้อมให้คำแนะนำและการรักษาอย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง ตั้งแต่การวางแผนรักษาด้วยยาเคมีบำบัด จนถึงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้
  • ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด นอกจากการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากพี่น้องที่มีผล HLA (Human Leukocyte Antigen) ที่เข้ากันได้ (Match Related Stem Cell Transplantation) ทางศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดและไขกระดูก โรงพยาบาลวัฒโนสถยังมีประสบการณ์การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดแบบใช้ HLA ที่เข้ากันเพียงครึ่งหนึ่ง (Haploidentical Stem Cell Transplantation) ซึ่งเพิ่มโอกาสในการทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในผู้ป่วยที่ไม่พบผู้บริจาคเซลล์ที่มี HLA ที่เข้ากัน อย่างไรก็ตามทีมแพทย์ผู้ชำนาญการจะพิจารณาและให้คำแนะนำกับผู้ป่วย โดยพิจารณาลักษณะความรุนแรงของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน โครโมโซมของผู้ป่วย และความพร้อมด้านอื่น ๆ ของผู้ป่วย
  • ศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดและไขกระดูกที่มีความพร้อมและได้มาตรฐาน
  • ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการสาขาต่าง ๆ  เช่น สาขาโรคติดเชื้อ โรคปอด หรือโรคหัวใจที่มีความพร้อมให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม เพื่อเฝ้าระวังและรักษาภาวะแทรกซ้อนหลังการให้ยาเคมีบำบัด
  • ทีมพยาบาลหน่วยให้เคมีบำบัดซึ่งมีความพร้อมและมีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วย เพื่อเฝ้าระวังและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนระหว่างให้ยาเคมีบำบัด

ผู้เขียน

พญ.นุชนันต์ อารีธรรมศิริกุล อายุรแพทย์สาขาโลหิตวิทยา ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากตนเอง โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ