มะเร็งท่อทางเดินน้ำดี
ข้อเท็จจริง
- ท่อน้ำดี คือ ท่อขนาดเล็กที่เชื่อมระหว่างตับและถุงน้ำดีไปที่ลำไส้เล็ก
- น้ำดีสร้างจากตับและถูกนำไปเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี มีหน้าที่ในการช่วยทำให้ไขมันแตกตัวในระว่างการย่อยอาหารที่ลำไส้เล็ก
- มะเร็งของระบบน้ำดีมักเกิดจากเนื่อเยื่อต่อม เรียกว่า Adenocarcinoma
- มะเร็งเกิดจากท่อน้ำดีในตับจะเรียกว่า Intra – Hepatic
- มะเร็งเกิดจากท่อน้ำดีนอกตับจะเรียกว่า Extra – Hepatic
- มะเร็งท่อน้ำดีไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด อาจเกิดจาก
- Choledochal Cysts
- The Liver Fluke
- Sclerosing Cholangitis
อาการ
ถ้ามะเร็งเกิดในท่อน้ำดี อาจทำให้เกิดการอุดตันของทางเดินน้ำดี จากตับไปลำไส้เล็ก ส่งผลให้น้ำดีย้อนกลับเข้ากระแสเลือดและเนื้อเยื่อ ก่อให้เกิดอาการ
- ผิวหนังและตาเหลือง เรียกว่า ภาวะตัวตาเหลือง (Jaundice)
- ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มมากขึ้น
- อุจจาระสีซีด
- คันที่ผิวหนัง
- ปวดท้องเล็กน้อย
- เบื่ออาหาร
- ไข้
- น้ำหนักลด
การตรวจวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยอาจทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลาย ๆ วิธีร่วมกัน
- การตรวจด้วยเครื่องความถี่สูง Ultrasound
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP)
- การตรวจระบบทางเดินน้ำดีโดยวิธีแทงเข็มผ่านผิวหนัง (PTC)
วิธีนี้แพทย์สามารถได้ภาพถ่ายเอกซเรย์ของท่อน้ำดี - การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ
ระยะของมะเร็ง
- ขั้น 1 เอ (Stage 1A) มะเร็งอยู่เฉพาะบริเวณท่อน้ำดี
- ขั้น 1 บี (Stage 1B) มะเร็งลุกลามออกจากท่อน้ำดี แต่ไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะใกล้เคียง
- ขั้น 2 เอ (Stage 2A) มะเร็งลุกลามไปที่ตับ ตับอ่อน หรือถุงน้ำดี หรือหลอดเลือดใกล้เคียง แต่ไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง
- ขั้น 2 บี (Stage 2B) มะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
- ขั้น 3 (Stage 3) มะเร็งลุกลามไปที่หลอดเลือดหลักที่นำเลือดเข้าและออกจากตับหรือลุกลามไปที่ลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร หรือผนังช่องท้อง และแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง
- ขั้น 4 (Stage 4) มะเร็งลุกลามไปที่อวัยวะห่างไกล เช่น ปอด เป็นต้น
การรักษา
การผ่าตัด
- การผ่าตัดมักใช้ในกรณีที่มะเร็งไม่ลุกลามไปนอกท่อน้ำดี ซึ่งอาจทำได้ยาก ระหว่างการผ่าตัดท่อน้ำดีในส่วนที่เป็นมะเร็งจะถูกตัดออกและเชื่อมต่อส่วนที่เหลือระหว่างตับและลำไส้เล็กเพื่อให้น้ำดีกลับมาไหลอีกครั้ง
- ถ้ามะเร็งลุกลามไปเนื้อเยื่อรอบ ๆ อาจจำเป็นต้องตัดบางส่วนของตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น ตับอ่อน และเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออก
- การผ่าตัดเพื่อสร้างทางเดินน้ำดีใหม่ใช้ในกรณีถ้าก้อนมะเร็งอุดกั้นท่อน้ำดีและเกิดภาวะตัวตาเหลือง แต่ไม่สามารถตัดก้อนออกได้ การผ่าตัดใช้ถุงน้ำดี เรียกว่า Cholecysto – Jejunostomy หรือ Cholecystoduodenostomy ถ้าใช้ท่อน้ำดี เรียกว่า Hepatico – Jejunostomy
- การผ่าตัดที่เรียกว่า Gastrojejunostomy ถ้ามีการอุดกั้นของลำไส้เล็กส่วนต้น เป็นการผ่าตัดเพื่อเชื่อมต่อระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็กส่วนกลาง ซึ่งช่วยลดอาการอาเจียน ซึ่งเกิดจากมะเร็งอุดกั้นลำไส้เล็กส่วนต้น
การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
วิธีการรักษาที่ช่วยลดอาการตัวตาเหลืองโดยไม่ต้องรับการผ่าตัด แต่เป็นการรักษาป้องกันการอุดตันของท่อน้ำดีเท่านั้น ไม่ได้เป็นการรักษาเพื่อเอามะเร็งออกไป มี 2 วิธี ได้แก่
- ERCP เป็นวิธีการส่องกล้องทางเดินอาหารแล้วใส่ขดลวดที่ยาวประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร หรือ 2 – 4 นิ้ว เข้าไปในท่อน้ำดีที่อุดตัน
- PTBD เป็นการรักษาผ่านผิวหนัง โดยใส่ท่อระบายเล็ก ๆ ผ่านเข้าไปในตับ และทำการระบายน้ำดีออกเป็นการชั่วคราว บางครั้งอาจมีการใส่ขดลวด (Stent) เพื่อแก้ไขภาวะอุดตัน
การฉายรังสีรักษา
มีการใช้การฉายรังสีรักษาเป็นบางครั้ง อาจใช้รังสีจากเครื่องกำเนิดรังสีจากภายนอก หรือการฝังอุปกรณ์กำเนิดรังสีในร่างกายใกล้กับก้อนมะเร็ง
ยาเคมีบำบัด
การใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีรักษาจะนำมาใช้เมื่อไม่สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้
ผู้เขียน
นพ.วุฒิ สุเมธโชติเมธา ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ