มะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี
ข้อเท็จจริง
ระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี ได้แก่
- ปากช่องคลอด หรืออวัยวะเพศภายนอก (Valva)
- ช่องคลอด (Vagina)
- ปากมดลูก (Cervix)
- มดลูก (Uterus)
- ปีกมดลูก (Follapian tubes)
- รังไข่ (Ovaries)
มะเร็ง
มะเร็ง คือ การที่เซลล์ของร่างกายมีการแบ่งตัวมากผิดปกติ และมีความสามารถที่จะกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ คนเป็นมะเร็งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น คนเรามีอายุยืนยาวมากขึ้น (Increase Life Span)
อวัยวะที่พบการเกิดมะเร็งได้บ่อยในผู้หญิงไทยเรียงตามลำดับ
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งตับ
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
- มะเร็งรังไข่
- มะเร็งปากมดลูกพบได้บ่อยที่สุดสำหรับอวัยวะสืบพันธุ์สตรี และเป็นมะเร็งที่แพทย์มีการศึกษาและเข้าใจถึงสาเหตุของมะเร็งที่อวัยวะนี้ การค้นหาสามารถทำได้ง่ายและสามารถป้องกันได้
- มีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยประมาณวันละ 10 คน
มะเร็งปากมดลูก
Rigomi (พ.ศ. 2385) และ Stern ชาวอิตาลี รายงานว่า แทบจะไม่พบว่าแม่ชีและสตรีที่รักษาพรหมจรรย์ (Nun and Virgins) เป็นมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นสรุปว่ามะเร็งปากมดลูกเกิดจากมีเพศสัมพันธ์ (Sexual Inducing Cancer) ซึ่งปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง โดยพบเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งในเซลล์มะเร็งของปากมดลูกที่เรียกว่า HPV (Human Pappilloma Virus)
ส่วนใหญ่ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทั้งชายและหญิงจะเคยติดเชื้อนี้มาแล้ว สถิติของอเมริกาพบว่า ผู้หญิงอายุระหว่าง 18 – 22 ปี เคยติดเชื้อนี้มาแล้วมากกว่า 75 %
การติดเชื้อ HPV ตามทฤษฎีแล้วอาจติดได้จาก
1. การมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเพศหรือการมีเพศสัมพันธ์วิธีอื่น (Sexual Intercourse, Genital – Genital Contact, Manual Genital, Oral – Genital) การใช้ถุงยางอนามัยจะช่วยลดอัตราเสี่ยง แต่ไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ (Not Fully Protect Against Infection)
2. ติดต่อโดยวิธีอื่น เช่น จากแม่สู่ทารกแรกเกิด หรือการใช้ของร่วมกัน (Undergarments, Surgical Gloves) ซึ่งวิธีนี้ตามทฤษฎีอาจเกิดขึ้นได้ แต่พบได้ยากมาก
ปัญหาที่สำคัญ คือ ผู้ที่ติดเชื้อ HPV จะไม่มีอาการแสดง ดังนั้นจะไม่รู้ตัว และสามารถกระจายเชื้อไวรัสไปสู่คนอื่น ๆ ได้
อาการมะเร็งปากมดลูก
ระยะก่อนมะเร็งหรือระยะเริ่มต้นของโรคนี้จะไม่มีอาการแสดงที่ผิดปกติ แต่ยกเว้นถ้าเป็นโรคมะเร็งมาก อาจมีอาการดังนี้
- เลือดออกทางช่องคลอดที่ผิดปกติ (Abnormal Vaginal Bleeding)
- มีระดูขาวที่ผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีกลิ่นเหม็น
- ถ้ากระจายไปยังอวัยวะอื่นอาจมีอาการปวด ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือดได้
ระยะก่อนมะเร็งหรือมะเร็งที่เพิ่งเริ่มเป็นจะไม่มีอาการและการรักษาทำได้ง่าย มีโอกาสที่จะหายขาดได้สูง วิธีที่จะทราบได้คือการมารับการตรวจภายในเพื่อเอาเซลล์จากปากมดลูกมาตรวจที่เรียกกันว่า ตรวจแป๊ป (Pap Smear) และถ้าตรวจร่วมกับการหาเชื้อไวรัส HPV (HPV DNA Test) จะทำให้ได้รับความชัดเจนถูกต้องใกล้ร้อยเปอร์เซ็นต์
ตรวจวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูก
ถ้าตรวจเซลล์ที่ผิดปกติจากการตรวจแป๊ปหรือตรวจพบ HPV แพทย์อาจขอตรวจด้วยการส่องกล้องขยายดูปากมดลูก (Calposcopic Exam) เพื่อดูหรือค้นหาบริเวณที่ผิดปกติ และจะทำการขลิบเอาชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy) เพื่อยืนยันว่ามีความผิดปกติจริง และจะได้วางแผนการตรวจเพื่อบอกระยะของโรคและวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง
รักษามะเร็งปากมดลูก
การรักษาขึ้นกับระยะของโรค สำหรับการรักษาระยะเริ่มต้นอาจจะรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น
- ตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย (Therapeutic Conization)
- การตัดมดลูกพร้อม ๆ กับเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองออก (Radical Hysterectomy with Pelvic Lymphadenectomy)
รักษาด้วยรังสี
การรักษาด้วยรังสีสำหรับมะเร็งปากมดลูกใช้รักษาได้ทุกระยะของมะเร็ง และมักจะร่วมกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Concurrent Chemo – Radiation Treatment)
การรักษาด้วยรังสีจะประกอบด้วยการฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสี (Teletherapy) และการใส่แร่ (Brachy – Therapy)
รักษาด้วยเคมีบำบัด
การรักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างเดียวจะใช้ในกรณีที่มะเร็งกระจายไปมากพอควร ซึ่งไม่สามารถให้รังสีรักษาหรือทำการผ่าตัดได้
เป้าหมายการรักษา
มุ่งหวังให้คนไข้หายจากโรค แต่เนื่องจากบางครั้งมะเร็งอาจกลับคืนได้ ดังนั้นภายหลังการรักษาแพทย์จะนัดให้มาตรวจเป็นระยะ ๆ และถ้ามีปัญหาหรือผลข้างเคียงจากการรักษาจะได้แก้ไข
ป้องกันมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ ถ้าผู้หญิงใส่ใจสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ
- มะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อ HPV ที่เรียกว่า High Risk HPV ซึ่งมีอยู่ประมาณ 13 ชนิด
- ในปัจจุบันพบว่า HPV ชนิดที่ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ประมาณ 70 % ของคนที่เป็น ซึ่งมีวัคซีนป้องกันไวรัสสองตัวนี้ถ้าได้รับการฉีดวัคซีนสามารถลดอัตราเสี่ยงลงได้อย่างน้อย 70% และถ้าร่วมกับการตรวจ Pap Smear และค้นหา High Risk HPV DNA เป็นประจำตามที่แพทย์แนะนำจะสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้
มะเร็งมดลูก
มะเร็งของมดลูก พบได้เป็นอันดับ 3 ของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีไทย
สาเหตุมะเร็งมดลูก
สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งมดลูกยังไม่สามารถสรุปได้ แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้เกิดมะเร็งมดลูก ได้แก่
- อายุ (ส่วนใหญ่พบว่าเกิดในวัยหมดประจำเดือนแล้ว)
- เชื้อชาติ
- กรรมพันธ์ุ
- มีความสัมพันธ์กับโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ
- ได้รับยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น Tamoxifen (Novalex)
- การได้รับรังสีจำนวนมากในอุ้งเชิงกราน
- การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานาน
- ภาวะไม่สมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจน
- สตรีที่เป็นโรคอ้วนหรือชอบรับประทานอาหารประเภทไขมันมาก ๆ
อาการมะเร็งมดลูก
โดยมากผู้ป่วยจะมีเลือดออกทางช่องคลอดที่ผิดปกติ โดยเฉพาะในวัยใกล้หมดประจำเดือน ถ้าเป็นมากอาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ปัสสาวะลำบาก เจ็บปวดโดยถ่ายไม่แสบขัด มีความเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรืออาการปวดในอุ้งเชิงกราน
วินิจฉัยมะเร็งมดลูก
- พิจารณาประวัติการมีเลือดออกผิดปกติ
- การตรวจภายใน
- การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasound) โดยเฉพาะการตรวจผ่านทางช่องคลอด (Vaginal Ultrasound)
- การตัดชิ้นเนื้อหรือขูดมดลูกเพื่อเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ (Endometrial Biopsy or Endometrial Curettage)
- การตรวจด้วยเครื่อง CT Scan โดยเฉพาะตรวจด้วยเครื่อง PET/CT Scan
- การตรวจด้วยการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopic Study)
รักษามะเร็งมดลูก
- การรักษาขึ้นกับระยะของมะเร็ง
- การรักษาอาจทำได้หลายวิธี ได้แก่
- การผ่าตัด โดยการผ่าตัดเอามดลูก ปีกมดลูก รังไข่ ตลอดถึงเอาต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน และบริเวณเส้นเลือดใหญ่ในท้อง (Para – Aotic Lymph Nodes)
- รังสีรักษา อาจใช้รักษาร่วมกันกับการรักษาอย่างอื่น เช่น หลังผ่าตัด หรือรังสีรักษาอย่างเดียวโดยการฉายรังสี (Tele – Therapy) และการใส่แร่ (Brachytherapy)
- การรักษาด้วยเคมีบำบัด การรักษาด้วยวิธีนี้ใช้รักษาในกรณีที่มีการกระจายไปแล้ว หรือใช้ร่วมกับการรักษาอย่างอื่นเพื่อลดการกลับคืนของมะเร็ง
- การรักษาด้วยฮอร์โมน โดยมากใช้ในรายที่ผู้ป่วยเป็นมากแล้ว เป็นการรักษาแบบประคับประคอง แต่ในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยมีอายุน้อย เพิ่งเริ่มเป็นมะเร็ง มีความต้องการมีบุตร อาจรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมน และติดตามดูการตอบสนองต่อฮอร์โมน ถ้าได้ผลก็ปล่อยให้ผู้ป่วยมีบุตรได้และควรผ่าตัดเอามดลูกออกเมื่อมีบุตรเพียงพอ
ป้องกันมะเร็งมดลูก
- การคุมกำเนิดด้วยยาเม็ดคุมกำเนิดช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งได้
- หากจำเป็นต้องให้ฮอร์โมน โดยเฉพาะการให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนต้องประเมินความเสี่ยงให้ดีในกรณีสตรีวัยหมดประจำเดือน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ควบคุมอาหารหวาน มัน
- คุมน้ำหนักอย่าให้เป็นโรคอ้วน
- ดูแลควบคุมโรคประจำตัวให้ดี เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
จุดเด่น
โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ มีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อค้นหามะเร็งปากมดลูก หากตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ เราพร้อมให้การรักษาแบบองค์รวมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยและได้มาตรฐานระดับสากล
ผู้เขียน
ผศ.พญ.ดวงมณี ธนัพประภัศร์ สูตินรีแพทย์และมะเร็งนรีเวช โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
นพ.ภานนท์ เกษมสันต์ สูตินรีแพทย์และมะเร็งนรีเวช โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
นพ.โซ่สกุล บุณยะวิโรจน์ สูตินรีแพทย์และมะเร็งนรีเวช โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
พญ.ศิริวรรณ ตั้งจิตรกมล สูตินรีแพทย์และมะเร็งนรีเวช แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์