มะเร็งเม็ดเลือดขาว

ข้อเท็จจริง

 

  • โรคเลือดมีความหมายกว้างและครอบคลุมโรคต่าง ๆ โดยจะรวมไปถึง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว  โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น
  • ในประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคระบบโลหิตนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย แม้ร่างกายจะมีกระบวนการจัดการความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ถ้าวันใดเกิดความไม่สมดุลในร่างกาย เช่น วิตกกังวล การติดเชื้อ การได้รับสารเคมีบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เสียสมดุลของกลไกทางภูมิคุ้มกัน เซลล์ที่ผิดปกติก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและควบคุมไม่อยู่จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
  • ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ ทำให้ปัจจุบันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถรักษาให้หายได้ หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและรวดเร็ว พร้อมทั้งมีแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
  • โรคระบบโลหิตวิทยาเป็นกลุ่มโรคที่พบได้บ่อยทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันที่พบความรุนแรงและรักษาได้ยาก เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งทั่วไป เพราะระบบเลือดเป็นระบบที่สำคัญของร่างกายรองจากปอดและหัวใจ ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

กลุ่มโรค

โรคทางระบบโลหิตวิทยา หรือ โรคเลือด หมายถึง โรคหรือความผิดปกติของเม็ดเลือด ไขกระดูก ระบบ reticuloendothelial ต่อมน้ำเหลืองและระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งปัจจัยของการแข็งตัวของเลือด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มมะเร็งระบบเลือด ซึ่งพบได้บ่อย เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) มะเร็งไขกระดูก (Multiple Myeloma หรือ MM)
  2. กลุ่มโรคเลือดที่ไม่ใช่มะเร็ง ซึ่งแบ่งได้ดังนี้
    1. โรคที่มีภาวะโลหิตจาง เช่น โรคธาลัสซีเมียซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม โลหิตจางจากการขาดเหล็ก โลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 และโฟเลต เป็นต้น ผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายแล้วเหนื่อย ในกรณีที่เป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
    2. โรคที่มีความผิดปกติของไขกระดูก เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ เกิดจากการที่ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดได้น้อยลง ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการซีด เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง มีจ้ำเลือด และเลือดออก เป็นไข้ และมีโรคติดเชื้อ
    3. โรคมะเร็งระบบเลือด เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน(Acute Leukemia) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง (Chronic Leukemia) โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Malignant Lymphoma) และ Multiple Myeloma ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน จะมีจ้ำเลือด จุดเลือดออก เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดประจำเดือนออกมาก มีไข้และโลหิตจาง ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังมีม้ามโต หรือต่อมน้ำเหลืองโต ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง พบมีต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ ก้อนโตเร็วแต่ไม่เจ็บ อาจมีไข้และน้ำหนักลดร่วมด้วย ผู้ป่วยโรค Multiple Myeloma จะมีอาการปวดกระดูก ซีด และภาวะไตวาย
    4. โรคที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น โรคเลือดไหลไม่หยุด โรคเลือดออกผิดปกติจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคตับ หรือภาวะลิ่มเลือดกระจายทั่วไปในหลอดเลือด
    5. โรคที่มีการอุดตันของหลอดเลือดดำ ที่พบบ่อยคือ หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน ทำให้มีขาบวมข้างเดียว ก้อนเลือดอาจหลุดไปอุดที่หลอดเลือดในปอดได้

การบำบัดรักษา

  • ปัจจุบันวงการแพทย์ได้มีการนำปลูกถ่ายไขกระดูกมาใช้ในการรักษาด้วย “การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด” หรือที่เรียกว่า การปลูกถ่ายไขกระดูกเข้ามาใช้ ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ ที่จะสามารถรักษาผู้ป่วยโรคทางมะเร็งโลหิตวิทยาให้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพ หรือมีโอกาสหายขาดได้
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นการแทนที่เซลล์ที่ไม่แข็งแรง หรือเซลล์ที่ผิดปกติในไขกระดูก ด้วยเซลล์ต้นกำเนิดที่แข็งแรงและปกติ เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด สามารถเก็บได้มาจาก 3 แหล่งในร่างกายมนุษย์ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด จึงมักถูกเรียกเป็นการปลูกถ่ายไขกระดูก การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากกระแสเลือด และการปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือ
  • เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ปกติ สามารถหาได้จากผู้บริจาค ซึ่งอาจจะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรืออาจจะเป็นอาสาสมัครผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ (หรือในบางกรณีของโรคมะเร็ง อาจใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตัวผู้ป่วยเอง) เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนั้นจะถูกนำมาให้ผู้ป่วย (ผู้รับ) ทางสายสวนหลอดเลือดดำ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการเตรียมการโดยการรับยาเคมีบำบัดขนาดสูงแล้ว (บางกรณีใช้การฉายรังสีรักษาทั่วตัวร่วมด้วย) โดยเซลล์ต้นกำเนิดจะเจริญเติบโต เพิ่มจำนวน และพัฒนาไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ที่แข็งแรงในที่สุด
  • การรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็งระบบเลือด ถ้ายิ่งทำได้เร็วโอกาสที่จะหายขาดก็มีมาก โอกาสที่โรคจะกลับเป็นใหม่มีน้อยกว่า
  • การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันให้ได้ผลดีควรปลูกถ่ายภายหลังบำบัดโรคได้สงบในครั้งแรก อาการที่สงสัยจะเป็นโรคเลือดและควรมาพบแพทย์ เช่น ภาวะโลหิตจาง มีเลือดออกตั้งแต่ 2 แห่งพร้อมกัน เช่น เลือดออกตามไรฟันพร้อมกับเลือดกำเดาไหล และต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น

จุดเด่น

  • วินิจฉัยรวดเร็วทันท่วงที
  • การรักษายืดหยุ่นตามความเหมาะสม
  • เปิดให้มีการพูดคุยกับผู้ป่วย และญาติ (Family Conference) เพื่อเข้าใจในโรคมากขึ้น โดยเฉพาะเคสผู้ป่วยที่พบความผิดปกติของโรคหลายระบบพร้อมกัน

ผู้เขียน

ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์โลหิตวิทยา โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ