มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ข้อเท็จจริง
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในต่อมน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำเหลืองของร่างกาย เช่น ม้าม ต่อมทอนซิล ต่อมไทมัส และไขกระดูก
- หน้าที่ปกติของระบบน้ำเหลือง คือ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อ โดยมีเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) เป็นเม็ดเลือดสำคัญในระบบดังกล่าว ดังนั้นหากการทำงานของเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์และระบบน้ำเหลืองผิดปกติไปจนเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จึงทำผู้ป่วยมีอาการต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่น ๆ โต รวมไปถึงภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้นกว่าคนปกติ
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองยังสามารถพบได้ในอวัยวะอื่นนอกเหนือจากต่อมน้ำเหลือง เช่น ตับ ผิวหนัง สมอง กระเพาะอาหาร เป็นต้น
ชนิดของมะเร็ง
ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถแบ่งได้ 2 ชนิดหลัก โดยการตรวจทางพยาธิวิทยาและการย้อมสีพิเศษเพื่อจำแนกชนิดของมะเร็ง ซึ่งมีความจำเป็นในการวางแผนการรักษา
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non – Hodgkin’s Lymphoma) ซึ่งสามารถแบ่งชนิดหลักต่อเป็นชนิด B – Cell หรือ T – Cell อย่างไรก็ตามปัจจุบันมะเร็งชนิดนี้สามารถจำแนกชนิดอย่างละเอียดได้มากกว่า 30 ชนิด มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ Diffuse Large B – Cell Lymphoma นอกจากนั้นยังสามารถจำแนกมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non – Hodgkin’s Lymphoma) ตามลักษณะการดำเนินของโรคได้แก่ ชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent Lymphoma) และชนิดรุนแรง (Aggressive Lymphoma) ซึ่งแนวเป้าหมายและแนวทางการรักษาจะแตกต่างกันไป
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin’s Lymphoma) พบได้น้อยกว่าชนิดที่ไม่ใช่ฮอดจ์กิน และมักพบตำแหน่งต่อมน้ำเหลืองโตเป็นที่แถวลำคอหรือในช่องอก สามารถวินิจฉัยได้จากการพบเซลล์ผิดปกติชื่อ รีดสเตนเทิร์นเบิร์ก (Reed – Sternberg Cell) จากต่อมน้ำเหลืองที่ผิดปกติ มักพบในผู้ป่วยอายุน้อย โดยมีการพยากรณ์โรคที่ดีกว่า
ปัจจัยเสี่ยง
- ติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น ไวรัส HIV, แบคทีเรีย H.pylori ฯลฯ
- โรคภูมิแพ้ตนเองบางชนิด
- ภูมิต้านทานโรคต่ำ
- สัมผัสสารเคมี
อาการ
- พบก้อนโตเร็วและไม่เจ็บบริเวณต่าง ๆ เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ
- ไข้
- หนาวสั่น
- ไอเรื้อรัง
- หายใจไม่สะดวก
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ
- ปวดท้อง
- ท้องเสียเรื้อรัง
- เหงื่อออกง่ายตอนกลางคืน
- ต่อมทอนซิลโต
- ปวดศีรษะ (จากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบประสาท)
การตรวจวินิจฉัย
- การตัดเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ
- การเอกซเรย์
- การเจาะไขกระดูก
การบำบัดรักษา
- การใช้ยาเคมีบำบัด
- การใช้รังสีรักษา
- การปลูกถ่ายไขกระดูก
- การใช้แอนติบอดี
การป้องกัน
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกหมู่
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- เลี่ยงการสัมผัสสารเคมี รังสี และมลพิษ
- ตรวจสุขภาพทุกปี
- รักษาสุขภาพใจ ไม่เครียด