มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา

ข้อเท็จจริง

  • มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) เป็นมะเร็งของเม็ดเลือดพลาสมาเซลล์ (Plasma Cell) มักพบในผู้สูงอายุ โดยอายุเฉลี่ยเมื่อวินิจฉัยประมาณ 60 – 70 ปี พบน้อยในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 40 ปี
  • พลาสมาเซลล์ คือ เม็ดเลือดชนิดหนึ่งซื่งอาศัยอยู่ในไขกระดูก หน้าที่หลักของพลาสมาเซลล์ คือ สร้างแอนติบอดีหรืออิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) หลายชนิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ปกติร่างกายจะมีจำนวนพลาสมาเซลล์ในไขกระดูกประมาณ 2 – 3 % หากมีความผิดปกติของการสร้างพลาสมาเซลล์จนเกิดเป็นโรค จะพบจำนวนพลาสมาเซลล์เพิ่มขึ้นในไขกระดูกเกิน 10% ร่วมกับความบกพร่องในการสร้างอิมมูโนโกลบูลินชนิดต่าง ๆ จนทำให้เกิดการสร้างโปรตีนบางชนิดในเลือดที่มากผิดปกติ ซึ่งเรียกว่า เอ็มโปรตีน (M Protein – Monoclonal Protein) โปรตีนดังกล่าวสามารถทำอันตรายต่ออวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายได้ เช่น กระดูกพรุน ปวดกระดูก เสี่ยงต่อภาวะกระดูกหัก ไตวาย และระดับแคลเซียมในร่างกายสูงจนเกิดอันตรายได้
  • บางครั้งพลาสมาเซลล์ที่เป็นมะเร็ง สามารถพบเป็นก้อนมะเร็งภายนอกไขกระดูกได้ เรียกว่า พลาสมาไซโตมา (Plasmacytoma) โดยตำแหน่งที่พบบ่อย คือ กระดูกสันหลัง กระดูกสันอก ซี่โครง
  • แม้ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่ทำให้โรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาหายขาดได้ แต่ถือเป็นโรคที่รักษาได้ และมีความเจริญก้าวหน้าในการรักษาอย่างก้าวกระโดด และพบว่าผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

สาเหตุของโรค

  • มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) ยังไม่พบสาเหตุแน่นอนในการเกิดโรค
  • ผู้ป่วยที่พบโปรตีนผิดปกติในเลือดมาก่อนโดยไม่มีอาการ (Monoclonal Gammopathy of Undetermined Significance – MGUS) มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) โดยเฉลี่ยประมาณ 1% ต่อปี

อาการ

  • ซีด อ่อนเพลีย
  • เลือดออกผิดปกติ
  • ปวดกระดูก
  • กระดูกหักโดยไม่มีสาเหตุที่เหมาะสม
  • อาการของแคลเซียมในเลือดสูง ได้แก่ ซึม สับสน ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย ฯลฯ
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

การตรวจวินิจฉัย

  • ตรวจนับเม็ดเลือด มักพบภาวะซีด หรือเกล็ดเลือดต่ำได้ ถ้าอาการรุนแรงสามารถพบมะเร็งพลาสมาเซลล์ในเลือดได้ เรียกว่า ลูคีเมียของพลาสมาเซลล์ (Plasma Cell Leukemia)
  • ตรวจเลือดเพื่อดูชนิดและระดับของเอ็มโปรตีน (M Protein) และอิมมูโนโกลบูลินตัวอื่น ๆ  รวมไปถึงระดับ Serum Free Light Chain
  • ตรวจเลือดทางชีวเคมีเพื่อประเมินการทำงานของไต รวมถึงค่าระดับแคลเซียมและเกลือแร่อื่น ๆ
  • ตรวจไขกระดูกเพื่อประเมินจำนวนมะเร็งพลาสมาเซลล์ รวมไปถึงการตรวจโครโมโซมจากไขกระดูกเพื่อวางแผนการรักษา
  • เอกซเรย์กระดูกเพื่อประเมินสภาพกระดูกก่อนการรักษา (Skeleton Survey)
  • ตรวจปัสสาวะที่เก็บรวมใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจหาเอ็มโปรตีน (M Protein) ในปัสสาวะ

การบำบัดรักษา

  • การรักษาหลักเป็นการให้ยาเคมีบำบัด โดยจะพิจารณาขึ้นกับอายุและสภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นหลัก
  • ยาชนิดใหม่ (Novel Therapy) ที่รักษาโรคมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาในปัจจุบันให้การตอบสนองดีมากเมื่อเทียบกับยาเคมีแบบเก่า ยาชนิดใหม่ที่ใช้บ่อยได้แก่ ยากลุ่ม Proteasome Inhibitor  และ Immunomodulator
  • การใช้ยารักษาในปัจจุบันรวมไปถึงการใช้ยาเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค (Maintenance) หลังจากที่โรคเข้าสู่ภาวะโรคสงบแล้ว พบว่าทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น
  • การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวเอง (Autologous Stem Cell Transplantation) หลังจากให้ยาเคมีบำบัด จะพิจารณาในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปีที่มีสภาพร่างกายพร้อมและไม่มีโรคประจำตัวอื่นร้ายแรง อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปีที่สภาพร่างกายพร้อม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป
  • การฉายแสง ในกรณีที่ก้อนพลาสมาไซโตมา (Plasmacytoma) ใหญ่ไปเบียดกดอวัยวะอื่น ๆ หรือมีอาการปวดรุนแรงจากกระดูกหัก
  • การให้ยาเพิ่มความแข็งแรงกระดูก ซึ่งเป็นยาในกลุ่มบิสฟอสฟาเนท (Bisphosphanate) เพื่อป้องกันการทำลายเพิ่มเติมของกระดูกจากตัวมะเร็ง
  • การฉีดซีเมนต์หรือใช้บอลลูนถ่างเพื่อค้ำยันกระดูกสันหลังที่หัก (Kyphoplasty or Vertebroplasty) เพื่อลดอาการปวดจากกระดูกสันหลังที่หัก

จุดเด่น

  • ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งโลหิตวิทยาที่พร้อมให้คำแนะนำและการรักษาอย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง ตั้งแต่การวางแผนรักษาด้วยยาเคมีบำบัด จนถึงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
  • ศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดและไขกระดูกที่มีความพร้อมและได้มาตรฐาน
  • ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการสาขาต่าง ๆ เช่น สาขาโรคติดเชื้อ โรคปอด หรือโรคกระดูกที่มีความพร้อมให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม เพื่อเฝ้าระวังและรักษาภาวะแทรกซ้อนหลังการให้ยาเคมีบำบัด
  • ทีมพยาบาลหน่วยให้เคมีบำบัดซึ่งมีความพร้อมและมีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วย เพื่อเฝ้าระวังและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนระหว่างให้ยาเคมีบำบัด

ผู้เขียน

พญ.นุชนันท์ อารีธรรมศิริกุล อายุรแพทย์สาขาโลหิตวิทยา ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมาและการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากตนเอง โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ