มะเร็งหลังโพรงจมูก
ข้อเท็จจริง
- มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ผิดปกติบริเวณพื้นที่หลังโพรงจมูกโดยสามารถแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ โพรงจมูก ช่องคอ ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการในระยะแรกหรือมีเพียงอาการคล้ายหวัดเรื้อรัง แต่เมื่อลุกลามมากขึ้น อาจมาด้วยอาการหูอื้อข้างเดียว คัดจมูก มีน้ำมูกปนเลือด เลือดกำเดาไหล ต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณลำคอ หรือหากการลุกลามไปถึงเส้นประสาทสมองอาจทำให้มองเห็นภาพซ้อนและชาบริเวณใบหน้าได้
- มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอที่สามารถพบได้บ่อยในประชากรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศจีนตอนใต้
ปัจจัยเสี่ยง
- ไวรัสที่เป็นต้นเหตุสำคัญของมะเร็งหลังโพรงจมูกคือ ไวรัส EBV (Epstein – Barr) หรือ Human Herpesvirus 4 (HHV4) ซึ่งในผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกจะมีสารภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนี้มากกว่าคนทั่วไป
- การรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปที่มีสารไนโตรซามีน เมื่อเกิดการสูดดมจะส่งผลให้ DNA ของเซลล์เยื่อบุผิวเปลี่ยนแปลงจนเกิดการกลายพันธุ์ได้
- การสัมผัสสารต่าง ๆ ทั้งฝุ่นจากไม้ หนัง สิ่งทอ สารประกอบนิกเกิลฟอร์มาลดีไฮด์ โครเมียม ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งหลังโพรงจมูกได้
อาการ
- อาการทางจมูก อาทิ คัดแน่นจมูก เลือดกำเดาไหล น้ำมูกไหล มีเสมหะหรือน้ำมูกปนเลือด เสียการได้กลิ่น
- อาการทางระบบประสาท อาทิ ปวดศีรษะ เห็นภาพซ้อน ชา เจ็บเสียวที่แก้ม ปวดเหนือดวงตาหรือใต้ดวงตา ตาแฉะ ปวดบวมที่ใบหน้า กล้ามเนื้อหน้าเป็นอัมพาต เสียงแหบ กลืนลำบาก สำลัก รับรสและกลิ่นผิดเพี้ยน
- อาการทางหู อาทิ หูอื้อ ปวดหู ได้ยินบกพร่อง มีของเหลวไหลออกจากหู เสียการได้ยิน
- อาการอื่น ๆ อาทิ ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม น้ำหนักลด ไข้ต่ำ เบื่ออาหาร ฯลฯ
การตรวจวินิจฉัย
- ซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทาง
- ตรวจช่องจมูกและลำคอด้วยกล้อง (Nasal Endoscope) และการตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา
- เจาะชิ้นเนื้อพิสูจน์หาเซลล์มะเร็งด้วยเข็ม (Fine Needle Aspiration) ในกรณีที่มีต่อมน้ำเหลืองโต
- ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography)
- ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- ตรวจด้วยเครื่องเพทซีที สแกน (PET/CT Scan)
การบำบัดรักษา
การรักษามะเร็งโพรงจมูกส่วนใหญ่เน้นการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดเป็นหลัก วิธีการรักษา ได้แก่
- การฉายรังสี (Radiation Therapy) ใช้รังสีพลังงานสูงเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งหรือลดขนาดเนื้องอกก่อนผ่าตัด
- เคมีบำบัด (Chemotherapy) ช่วยชะลอการเติบโตของเนื้องอก ลดความเสี่ยงกลับมาเป็นซ้ำ
- การผ่าตัด (Surgery) มีทั้งการผ่าตัดแบบเปิดและการผ่าตัดผ่านกล้อง โดยจะมีความจำเป็นในกรณีการผ่าตัดมะเร็งที่ยังหลงเหลือภายหลังการรักษาด้วยการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
มะเร็งหลังโพรงจมูกมีการตอบสนองต่อการรักษาได้ดีและมีโอกาสหายได้หากได้รับการวินิจฉัยและรับการรักษาในระยะเริ่มต้นดังนั้นการตรวจวินิจฉัยได้อย่างทันท่วงทีจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก
ผู้เขียน
นพ.รุตติ ชุมทอง ศัลยแพทย์ด้านศีรษะและลำคอ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ