มะเร็งตับอ่อน
ข้อเท็จจริง
- ตับอ่อนเป็นต่อมรูปร่างคล้ายลูกแพร์ ยาวประมาณ 6 นิ้ว อยู่บริเวณช่องท้องส่วนลึก ระหว่างกระเพาะอาหาร และกระดูกสันหลัง
- ตับอ่อนประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนที่กว้างที่สุดเรียกส่วนหัว ตัว และส่วนหางที่มีปลายแหลม
- ตับอ่อน มีหน้าที่สร้างฮอร์โมน รวมถึงอินซูลินที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหารในลำไส้
- มะเร็งตับอ่อนพบสูงมากในผู้ป่วยอายุ 60 – 80 ปี
- อุบัติการณ์มะเร็งตับอ่อนพบเท่ากันในเพศชายและหญิง
ปัจจัยเสี่ยง
สาเหตุแท้จริงของมะเร็งตับอ่อนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดมะเร็งตับอ่อน ได้แก่
- ผู้ที่สูบบุหรี่ มีโอกาสเป็นมะเร็งตับอ่อนมากกว่า 2 – 3 เท่าของคนทั่วไป
- ผู้ที่ทำบางอาชีพเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับอ่อนมากขึ้น เช่น อาชีพที่ต้องสัมผัสถ่านหิน ก๊าซ และคนงานในอุตสาหกรรมเหล็ก, อุตสาหกรรมที่มีการใช้ยาฆ่าแมลงบ่อย ๆ เป็นต้น
- ผู้ที่มีมารดา บิดา หรือพี่น้องเป็นมะเร็งตับอ่อน มีความเสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า
อาการ
อาการของมะเร็งตับอ่อนระยะแรกค่อนข้างคลุมเครือและไม่ชัดเจน อาการจะแสดงชัดเมื่อมะเร็งลุกลามไปอวัยวะอื่นหรือท่อน้ำดีอุดตัน ได้แก่
- น้ำหนักลด
- เบื่ออาหาร
- ภาวะตัวตาเหลือง (ตัวตาเหลืองและปัสสาวะมีสีเข้ม)
- ปวดในท้องส่วนบน
- ปวดหลัง
- อ่อนแรง
- คลื่นไส้และอาเจียน
- 10 – 20% มีอาการของโรคเบาหวาน เนื่องจากมะเร็งไปยับยั้งการผลิตอินซูลิน
การตรวจวินิจฉัย
- เครื่อง CT Scan ที่มีคุณภาพสูงสามารถจับภาพของก้อนในตับอ่อน ต่อมน้ำเหลืองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (เป็นตัวบ่งชี้ว่ามีการลุกลามของมะเร็ง) ก้อนในตับ และการอุดตันของท่อน้ำดี
- ERCP การสอดท่อจากปากผ่านคอเข้าไปสู่กระเพาะอาหาร เพื่อใส่สายยางขนาดเล็กเข้าไปที่ท่อน้ำดีและท่อตับอ่อน หลังจากนั้นทำการฉีดสีเข้าไปเพื่อถ่ายภาพรังสีบริเวณที่มีการอุดตัน และสาเหตุของการอุดตันจะถูกบันทึกลงภาพถ่ายรังสี
- PTC โดยแทงเข็มผ่านทางผิวหนังเข้าไปที่ตับเพื่อการฉีดสีและสีจะผ่านเข้าท่อน้ำดี เพื่อให้มีการอุดตัน และการอุดตันนี้แสดงผลทางภาพถ่ายเอกซเรย์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีเพิ่มระดับของ Carbohydrate Antigen 19-9 (CA 19-9) สูงขึ้น
ระยะของมะเร็ง
- ขั้น 1 เอ (Stage IA) มะเร็งไม่ลุกลามออกนอกตับอ่อนและมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร และไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองทั้งใกล้และไกล
- ขั้น 1 บี (Stage IB) มะเร็งไม่ลุกลามออกนอกตับอ่อนและมีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร และไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองทั้งใกล้และไกล
- ขั้น 2 เอ (Stage IIA) มะเร็งลุกลามออกนอกตับอ่อน แต่ไม่ไปที่หลอดเลือดใหญ่ และไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองทั้งใกล้และไกล
- ขั้น 2 บี (Stage IIB) มะเร็งลุกลามหรือไม่ลุกลามออกนอกตับอ่อน แต่ไม่ไปที่หลอดเลือดใหญ่และมีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง แต่ไม่ไปต่อมน้ำเหลืองไกล
- ขั้น 3 (Stage III) มะเร็งลุกลามออกนอกตับอ่อนและที่หลอดเลือดใหญ่ และอาจมีหรือไม่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง แต่ไม่ไปต่อมน้ำเหลืองไกล
- ขั้น 4 (Stage IV) มะเร็งลุกลามไปอวัยวะห่างไกล
การบำบัดรักษา
- มีผู้ป่วยจำนวนไม่มากที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งตับอ่อน ซึ่งมักเป็นรายที่ก้อนมีขนาดเล็ก ๆ และอยู่ในตำแหน่งไม่กดทำลายอวัยวะข้างเคียง โดยการผ่าตัดที่ทำเรียกว่า Whipple Operation
- การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้ยาเคมีบำบัดหรือการใช้รังสีรักษายังไม่สามารถทำให้หายขาดได้ อาจใช้ในการรักษาแบบผสมผสาน หรือใช้ในการแก้ไขภาวะแทรกซ้อนของตัวโรค เช่น ลดอาการปวด อาการอุดตันของท่อน้ำดีหรือทางเดินอาหาร เป็นต้น
- การรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ไม่ต้องผ่าตัดวิธีใหม่ เช่น การใช้ไฟฟ้า (IRE) การใช้ความเย็น (Cryotherapy) การใช้สารกัมมันตภาพรังสี (I-125) ยังอยู่ในขั้นตอนทดสอบหาข้อสรุป อาจมีการใช้ในกรณีเพื่อลดอาการหรือลดขนาดของก้อน แต่ไม่มีใช้ในกรณีทั่วไป
ผู้เขียน
นพ.วุฒิ สุเมธโชติเมธา ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ