มะเร็งอวัยวะเพศชาย
ข้อเท็จจริงของมะเร็งอวัยวะเพศชาย
- มะเร็งอวัยวะเพศชายเกิดขึ้นเมื่อเซลล์มะเร็งในอวัยวะเพศชายเติบโตจนควบคุมไม่ได้
- องคชาตเป็นอวัยวะสืบพันธุ์รูปแท่งสำหรับปัสสาวะและมีเพศสัมพันธ์ได้ ส่วนหลักขององคชาต ได้แก่ ส่วนคล้ายแท่งเป็นส่วนลำตัวที่ยื่นจากท้องต่ำไปจนถึงปลายอวัยวะเพศชาย เรียกว่าส่วนหัวหรือลึงค์ หากไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายจะมีชั้นผิวหนังที่เรียกว่าหนังหุ้มปลายที่คลุม ส่วนหัวขององคชาตจะถูกเปิดออก
- มะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในอวัยวะเพศ แต่ส่วนใหญ่มะเร็งอวัยวะเพศมักเริ่มต้นที่ส่วนหัวหรือหนังหุ้มปลายลึงค์
- มะเร็งอวัยวะเพศชายในประเทศไทยแม้พบน้อย แต่ควรไปพบแพทย์หากสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในอวัยวะเพศชาย เช่น ก้อนเนื้อหรือการเปลี่ยนสีผิวขององคชาต เป็นต้น
- การรักษาในระยะแรกสามารถป้องกันไม่ให้มะเร็งลุกลามได้ มะเร็งอวัยวะเพศชายที่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายจะรักษาได้ยากกว่า
สาเหตุของมะเร็งอวัยวะเพศชาย
เมื่อมีมะเร็งอวัยวะเพศชาย เซลล์ที่แข็งแรงในผิวหนังจะเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง เมื่อเซลล์มะเร็งขยายตัวจนไม่สามารถควบคุมได้จะก่อตัวเป็นก้อนที่เรียกว่า เนื้องอก เซลล์เหล่านี้สามารถเบียดเซลล์ที่แข็งแรงออกไปได้ เมื่อเวลาผ่านไป เซลล์มะเร็งสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะที่แข็งแรงจึงต้องรีบรักษาโดยเร็วทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงแม้ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งอวัยวะเพศชายแต่เพิ่มความเป็นไปได้ในการเป็นมะเร็ง
อาการมะเร็งอวัยวะเพศชาย
มะเร็งอวัยวะเพศชายมักทำให้องคชาตดูเปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างออกไป ผิวหนังบนองคชาตอาจเปลี่ยนสี และอาจสังเกตเห็นก้อนเนื้อ สัญญาณและอาการของโรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย ได้แก่
- มีก้อนเนื้อหรือแผลเรื้อรังในบริเวณอวัยวะเพศ ไม่หายใน 2 สัปดาห์
- เจ็บปวดหรืออาจมีเลือดออกง่าย
- บวมและระคายเคือง โดยเฉพาะบริเวณหัวขององคชาต
- ผิวหนังหนาขึ้นหรือเปลี่ยนสีผิว
- สารคัดหลั่งมีกลิ่นเหม็นอยู่ใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ
- ตุ่มเล็ก ๆ ที่เป็นเปลือกแข็ง
- ผื่น
อย่างไรก็ตามสภาวะที่ไม่รุนแรง เช่น การติดเชื้อและอาการแพ้ก็ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กความผิดปกติทันที หากไม่รีบรักษามะเร็งอวัยวะเพศชายตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เมื่อโรคลุกลามจะคลำได้ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบโตและอาจแตกเป็นแผลเปื่อยเน่าเมื่อรุนแรง
ชนิดของมะเร็งอวัยวะเพศชาย
- มะเร็งเซลล์สความัส (Squamous Cell Carcinoma : SCC) ร้อยละ 95 ของมะเร็งอวัยวะเพศชายเป็นมะเร็งชนิดนี้ โดยก่อตัวที่ส่วนบนของชั้นผิวหนังเรียกว่าชั้นหนังกำพร้าและมักลุกลามลงลึกสู่ด้านล่างของผิวหนัง ถ้าคลำดูผิวหนังด้านล่างมักพบว่าเป็นก้อนแข็ง ๆ
- มะเร็งเบเซลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma หรือ BCC) มะเร็งผิวหนังเริ่มต้นที่ชั้นล่างสุดของชั้นผิวหนัง มะเร็งเบเซลเซลล์เป็นมะเร็งอวัยวะเพศชายที่มีรูปแบบการเติบโตช้าและพบได้ไม่บ่อย
- มะเร็งเมลาโนมา (Melanoma) เริ่มต้นในเซลล์เม็ดสีเมลานินที่ควบคุมความมืดหรือความสว่างของผิว เรียกว่าเมลาโนไซต์ มะเร็งผิวหนังชนิดนี้แม้พบได้น้อย แต่เป็นมะเร็งรูปแบบลุกลาม
- มะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma) หรือบางคนอาจเคยได้ยินคำว่า มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน เป็นมะเร็งพัฒนาในกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและเป็นมะเร็งอวัยวะเพศชายรูปแบบที่หายากมาก
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งอวัยวะเพศชาย
- อายุ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับมะเร็งอวัยวะเพศชาย ประมาณร้อยละ 80 ของการวินิจฉัยโรคมะเร็งอวัยวะเพศชายเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
- การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศออก เผยให้เห็นส่วนปลายสุดขององคชาตนั้นสำคัญ เพราะการไม่ได้รับการขลิบหนังหุ้มปลายเมื่อยังเป็นทารก อาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งอวัยวะเพศชายเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งอวัยวะเพศชายมักเกี่ยวข้องกับการมีหนังหุ้มปลายองคชาต
- หนังหุ้มปลายตีบ การขลิบหนังหุ้มปลายเป็นภาวะที่ผิวหนังบริเวณปลายองคชาตหดตัวแน่นมากจนไม่สามารถดึงกลับให้เปิดหัวองคชาตขึ้นได้ปกติเพื่อเข้าถึงส่วนหัวขององคชาตได้ หนังหุ้มปลายตีบพบได้บ่อยในทารกที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลาย พบได้ยากในผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลาย อาจเป็นไปได้ที่หนังหุ้มปลายตีบจะอยู่จนเป็นผู้ใหญ่ เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อและการอักเสบใต้หนังหุ้มปลายองคชาต ซึ่งความเสี่ยงทั้งสองอย่างนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง
- การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีขององคชาต เชื้อไวรัสแปปิโลมา (Human Papillomavirus) หรือเอชพีวี (HPV) เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อเนื้อเยื่อบุผิว โดยพบไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงหลายสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งอวัยวะเพศชาย ไวรัสเอชพีวีที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งอวัยวะเพศชายคือไวรัสติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แม้ว่าเชื้อเอชพีวีจะพบได้ในเกือบทุกกรณีของมะเร็งปากมดลูก แต่พบได้ประมาณครึ่งหนึ่งในผู้ที่เป็นมะเร็งอวัยวะเพศชาย การติดเชื้อเอชพีวีจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับมะเร็งอวัยวะเพศชาย
- การติดเชื้อไวรัสเอชไอวีหรือโรคเอดส์ มะเร็งอวัยวะเพศชายพบได้บ่อยในผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งเป็นไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องของมนุษย์ และเป็นไปได้ว่าพฤติกรรมทางเพศแบบเดียวกันเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีของบุคคล เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน คู่นอนหลายคน ฯลฯ
- การสูบบุหรี่ การเคี้ยวยาสูบ หรือการสูดดม เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งอวัยวะเพศชาย โดยยาสูบอาจชะลอความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับการติดเชื้อและทำลายเซลล์ต่าง ๆ ส่วนการได้รับสารพิษจากควันบุหรี่ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่มะเร็ง
- การบำบัดด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตเอพูวา (PUVA) หรือสารซอราเลน (Psoralen) สารที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ เช่น ผลไม้จำพวกส้ม (Citrus) สารตัวนี้ทำให้ผิวไวต่อแสงและเปลี่ยนแสงแดดให้เป็นพิษต่อผิวหนัง ทำให้เกิดการไหม้แดด (Sunburn) หรือกระ ฝ้า หมองคล้ำ และการบำบัดด้วยแสงและเคมีบำบัดร่วมแสง (Ultraviolet A Photochemotherapy) ซึ่งเอพูวาเป็นการรักษาโรคสะเก็ดเงินประเภทหนึ่งที่ใช้รังสีอัลตราไวโอเลตอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งอวัยวะเพศชายได้ เพราะการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตมากขึ้นหมายถึงความเสี่ยงที่มากขึ้น
- โรคไลเคนสเคลโรซัส (Lichen Sclerosus: LS) เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ทำให้เกิดตุ่มนูนแบนสีม่วงคล้ำบริเวณอวัยวะเพศและคันบริเวณที่มีผื่นขึ้น อาจทำให้หัวของอวัยวะเพศชายหรือหนังหุ้มปลายของป่วยรู้สึกเจ็บปวด ระคายเคือง หรือคัน หากพบผู้ป่วยมีไลเคนสเคลโรซัสจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นมะเร็งอวัยวะเพศชาย นอกจากนี้ไลเคนสเคลโรซัสอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวี
- สุขอนามัยไม่ดี การไม่ล้างอวัยวะเพศให้บ่อยหรือทั่วถึงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดขี้เปียก ซึ่งเป็นคราบขาวที่อวัยวะเพศชาย ขี้เปียกคือการสะสมของของเหลวที่ร่างกายหลั่งออกมาตามธรรมชาติ หากไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ขี้เปียกอาจสะสมอยู่ใต้หนังหุ้มปลายของอวัยวะเพศจะหนาและมีกลิ่นเหม็น มีแนวโน้มว่าขี้เปียกอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็ง
อายุเท่าไรเสี่ยงมะเร็งอวัยวะเพศชาย
4 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งอวัยวะเพศชายมักได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไป แต่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีก็สามารถเป็นได้เช่นกัน โดยอายุเฉลี่ยของการตรวจวินิจฉัยคือ 60 ปี
การติดต่อของมะเร็งอวัยวะเพศชาย
มะเร็งอวัยวะเพศชายเป็นโรคไม่ติดต่อ แต่เชื้อไวรัสเอชพีวีซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของมะเร็งอวัยวะเพศชาย สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสทางผิวหนังบ่อยที่สุดในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน เพราะเชื้อไวรัสเอชพีวีจะแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด การร่วมเพศทางปาก และทางทวารหนัก
ตรวจวินิจฉัยมะเร็งอวัยวะเพศชาย
- ตรวจร่างกายและซักประวัติ แพทย์เฉพาะทางจะทำการตรวจร่างกายเพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่ผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้อหรือการเปลี่ยนสีที่อวัยวะเพศของผู้ป่วย แพทย์จะสอบถามอาการ นิสัย และความเจ็บป่วยในอดีตของผู้ป่วยร่วมด้วย ข้อมูลของผู้ป่วยจะช่วยให้แพทย์ระบุได้ว่าการเปลี่ยนแปลงน่าจะเป็นผลมาจากมะเร็งหรือสาเหตุที่พบบ่อยกว่า เช่น การติดเชื้อหรืออาการแพ้ โดยแพทย์จะตรวจต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ เป็นต้น
- ตรวจชิ้นเนื้อ เป็นวิธีเดียวที่จะยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ในระหว่างขั้นตอนแพทย์จะนำเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่ดูน่าสงสัยออก นักเทคนิคการแพทย์หรือนักพยาธิวิทยาจะดูเซลล์ด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาลักษณะของมะเร็ง
- ตรวจเอกซเรย์ ผู้ป่วยอาจต้องเอกซเรย์เพื่อดูว่ามะเร็งแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด เป็นการตรวจเพื่อประเมินระยะของโรค โดยแพทย์เฉพาะทางอาจให้ CT Scan ร่วมด้วย หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI), อัลตราซาวนด์, PET Scan เพื่อตรวจดูอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ภายในร่างกายในระดับโมเลกุลโดยใช้สารเภสัชรังสีหรือการเอกซเรย์หน้าอก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมะเร็งของผู้ป่วย
รักษามะเร็งอวัยวะเพศชาย
- มะเร็งระยะเริ่มแรก ใช้วิธีการรักษาต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ได้แก่
- ครีมทายา แพทย์อาจแนะนำครีมใช้ประจำกับอวัยวะเพศ ได้แก่ ฟลูออโรยูราซิลและอิมิควิโม
- การขลิบหนังหุ้มปลาย หากมะเร็งอยู่เฉพาะที่หนังหุ้มปลาย แพทย์อาจแนะนำผ่าตัดนำเนื้อเยื่อออก
- การลอกด้วยเลเซอร์ ขั้นตอนนี้ใช้เลเซอร์ที่สร้างความร้อนสูงเพื่อทำลายเนื้องอก
- การบำบัดด้วยการใช้ความเย็น (Cryotherapy) ขั้นตอนนี้ใช้ความเย็นจัดเพื่อทำลายเนื้องอก
- ผ่าตัดมะเร็งผิวหนังด้วยวิธีโมหส์ (Mohs Surgery) ในระหว่างขั้นตอนนี้แพทย์จะผ่าตัดชั้นผิวหนังที่เป็นมะเร็งออกทีละชั้นจนกระทั่งมาถึงเนื้อเยื่อที่มีสุขภาพดีที่อยู่ด้านล่าง
- การผ่าตัดนำเนื้องอกออก แพทย์อาจตัดเซลล์มะเร็งหรือเนื้องอกออกจากอวัยวะเพศชาย
- การบำบัดด้วยรังสี แพทย์อาจใช้ลำแสงพลังงาน เช่น รังสีเอกซ์ เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งหรือทำให้เนื้องอกหดตัวก่อนการผ่าตัด
- มะเร็งระยะลุกลาม ใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้ โดยแพทย์อาจใช้การฉายรังสี เคมีบำบัด หรือทั้งสองอย่างเพื่อลดขนาดเซลล์มะเร็งก่อนทำการผ่าตัด
- การผ่าตัดองคชาตออก (Penectomy) เป็นการผ่าตัดองคชาตออกบางส่วนหรือการผ่าตัดอวัยวะเพศชายออกทั้งหมด สำหรับการผ่าตัดองคชาตออกทั้งหมด แพทย์จะสร้างช่องเปิดท่อปัสสาวะ บริเวณผิวหนังฝีเย็บระหว่างทวารหนักและถุงอัณฑะเพื่อให้สามารถปัสสาวะได้
- การผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง แพทย์อาจผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบหากมะเร็งแพร่กระจาย
ทั้งนี้การรักษามะเร็งอวัยวะเพศชายขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอก ไม่ว่าจะเป็นการแพร่กระจายและโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำอีกหลังการรักษา ซึ่งการรักษาอาจเกี่ยวข้องกับทีมดูแล ซึ่งประกอบด้วยผู้ให้บริการดูแลหลัก แพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็ง แพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ และแพทย์ผิวหนัง
ป้องกันมะเร็งอวัยวะเพศชาย
- การขลิบหนังหุ้มปลายองคชาตของทารกช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งอวัยวะเพศชายเมื่อเป็นผู้ใหญ่ การวิจัยชี้ให้เห็นประโยชน์น้อยลงหากการขลิบหนังหุ้มปลายเกิดขึ้นหลังจากที่บุคคลมีเพศสัมพันธ์แล้ว สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาประโยชน์ทางการแพทย์ของการขลิบหนังหุ้มปลายกับปัจจัยอื่น ๆ ในการตัดสินใจ เช่น ความเชื่อทางศาสนา ความชอบทางวัฒนธรรมและส่วนบุคคล ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตนเองหรือทารกแรกเกิด
- ในผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายองคชาต อาจเกิดการติดเชื้อไปจนถึงสุขอนามัยที่ไม่ดี แต่การรักษาอย่างทันท่วงทีสามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งอวัยวะเพศชายได้
- วัคซีนเอชพีวี (HPV) ควรได้รับการฉีดระหว่างอายุ 9 ถึง 26 ปี หรือก่อนที่มีเพศสัมพันธ์ หากอายุมากกว่า 26 ปี ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์จากการฉีดวัคซีน
- มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนเพียงคนเดียว เพราะถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้อย่างเต็มที่ การไม่เปลี่ยนคู่นอนช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชพีวีได้
- งดสูบบุหรี่ ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งอวัยวะเพศชายและมะเร็งชนิดอื่น ๆ อีกมากมาย
- การมีสุขอนามัยที่ดีเป็นส่วนสำคัญในการมีอวัยวะเพศที่แข็งแรง ทำความสะอาดอวัยวะเพศชายเป็นประจำด้วยสบู่อ่อน ๆ และน้ำอุ่นช่วยชำระล้างเชื้อโรคที่อาจทำให้เกิดการอักเสบหรือการติดเชื้อได้ หากไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายให้ดึงหนังหุ้มปลายออกและทำความสะอาดหัวของอวัยวะเพศชายเพื่อป้องกันการสะสมของขี้เปียก
โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษามะเร็งอวัยวะเพศชายที่ไหนดี
ศูนย์อายุรกรรมมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัย แพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญและมากด้วยประสบการณ์ พร้อมให้การตรวจเช็กมะเร็งอวัยวะเพศชายและเลือกวิธีรักษามะเร็งอวัยวะเพศชายที่เหมาะกับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยในแต่ละบุคคล ตลอดจนมีทีมสหสาขาคอยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง
แพทย์ที่ชำนาญการรักษามะเร็งอวัยวะเพศชาย
ศ.นท.ดร.นพ.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง
แพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็ง
แพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็ง ราคาเริ่มต้นที่ 6,500 บาท
สอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์อายุรกรรมมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
โทร. 0 2755 1188 (สายด่วนมะเร็ง 8:00 น. – 20:00 น.)
0 2310 3000 (24 ชั่วโมง)
1719 (Local Only 24 ชั่วโมง)