มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

ข้อเท็จจริงของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

  • เนื้อเยื่ออ่อน หมายถึง โครงสร้างที่ทำหน้าที่รองรับ เชื่อมต่อ และล้อมรอบอวัยวะและเนื้อเยื่ออื่น ๆ ในร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อ ไขมัน เส้นประสาท หลอดเลือด เส้นเอ็น และเยื่อบุข้อต่อ 
  • เนื้องอกเนื้อเยื่ออ่อนแม้ว่าจะพบได้ไม่บ่อย แต่เกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย พบบ่อยที่สุดที่แขน ขา ลำตัว และช่องท้อง การทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ การตรวจวินิจฉัย และแนวทางการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ
  • มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Soft Tissue Sarcoma) เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในกลุ่มอวัยวะเนื้อเยื่ออ่อนที่เชื่อมต่อส่วนต่าง ๆ เช่น กล้ามเนื้อ ไขมัน เส้นเอ็น เส้นเลือด เส้นประสาท เป็นต้น แม้พบได้ไม่บ่อย แต่เกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งในร่างกาย โดยตำแหน่งของโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ แขน ลำตัว ศีรษะและลำคอ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ในระยะที่แพร่กระจายไปยังปอด กระดูก ตับแล้ว 

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค ได้แก่

  • การฉายรังสีรักษาจากมะเร็งชนิดอื่นอาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน
  • สารเคมีอันตรายบางชนิด เช่น ยาฆ่าแมลง 
  • โรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น Li – Fraumeni Syndrome อาจเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน
  • ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

ประเภทของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

  1. เนื้องอกเนื้อเยื่ออ่อนชนิดไม่ร้ายแรง (Benign Soft Tissue Tumors)
    • Lipoma เนื้องอกที่พบได้บ่อยที่สุด ประกอบด้วยเซลล์ไขมันที่โตผิดปกติ
    • Hemangioma เนื้องอกหลอดเลือดที่เกิดจากการเติบโตผิดปกติของหลอดเลือด
    • Fibroma เนื้องอกที่เกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
    • Neurofibroma เนื้องอกที่เกิดจากเนื้อเยื่อประสาท มักพบร่วมกับโรค Neurofibromatosis
  2. มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนหรือเนื้องอกเนื้อเยื่ออ่อนชนิดร้ายแรง (Soft Tissue Sarcoma)
    • Liposarcoma มะเร็งในเนื้อเยื่อไขมัน
    • Leiomyosarcoma มะเร็งในกล้ามเนื้อเรียบ
    • Rhabdomyosarcoma มะเร็งในกล้ามเนื้อลาย พบมากในเด็ก
    • Angiosarcoma มะเร็งในหลอดเลือด
    • Fibrosarcoma มะเร็งในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

การแบ่งระยะของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

มีความสำคัญในการวางแผนการรักษา โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • ขนาดของเนื้องอก (T): ขนาดและขอบเขตของเนื้องอกหลัก
  • การแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง (N): การลุกลามของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง
  • การแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น (M): การแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะที่อยู่ห่างไกล เช่น ปอด ตับ หรือกระดูก
  • ระดับความรุนแรงของเซลล์มะเร็ง (G): ลักษณะของเซลล์มะเร็งภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งบ่งบอกถึงความรวดเร็วในการเติบโต

การแพร่กระจายของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

โดยทั่วไปมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะหลัก ๆ ดังนี้

  • ระยะที่ 1
    • มะเร็งมีขนาดเล็กและเซลล์มะเร็งมีระดับความรุนแรงต่ำ
    • ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่น
  • ระยะที่ 2
    • มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเซลล์มะเร็งมีระดับความรุนแรงสูงขึ้น
    • ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่น
  • ระยะที่ 3
    • มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก หรือมีการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อโดยรอบ
    • ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่น
  • ระยะที่ 4
    • มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะที่อยู่ห่างไกล

อาการมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

อาการของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ตามชนิดของเนื้องอก

  1. เนื้องอกเนื้อเยื่ออ่อนชนิดไม่ร้ายแรง (Benign Soft Tissue Tumors)
    • ก้อนเนื้อนุ่มใต้ผิวหนัง มักโตช้า ๆ ไม่เจ็บปวด เคลื่อนที่ได้ง่าย
    • ตัวอย่าง:
      • Lipoma (เนื้องอกไขมัน) คลำได้เป็นก้อนนุ่ม เคลื่อนที่ได้ใต้ผิวหนัง
      • Hemangioma (เนื้องอกหลอดเลือด) แสดงอาการเป็นรอยแดงหรือน้ำเงินบนผิวหนัง
  2. มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนชนิดร้ายแรง (Soft Tissue Sarcoma)
    • ก้อนเนื้อแข็งใต้ผิวหนัง โตเร็ว อาจกดเบียดอวัยวะใกล้เคียง อาจมีอาการเจ็บ หรือไม่มีอาการเจ็บก็ได้
    • อาการปวด: ปวดเมื่อกดทับเส้นประสาทหรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ
    • อาการบวม: บวมบริเวณก้อนเนื้อ อวัยวะบริเวณใกล้เคียงเกิดความผิดปกติ
    • อาการในระยะแพร่กระจาย: ไอเรื้อรังและหายใจลำบาก (เมื่อมะเร็งแพร่กระจายไปยังปอด) ปวดกระดูก (เมื่อมะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูก)

ข้อสังเกตเพิ่มเติม

  • ในระยะแรกของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนอาจไม่มีอาการแสดงใด ๆ

ตรวจวินิจฉัยมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

  • ซักประวัติและตรวจร่างกาย สอบถามประวัติก้อนเนื้อ เช่น จุดเริ่มต้นของอาการ อัตราการเจริญเติบโต อาการร่วม เช่น ปวดหรืออาการทางระบบประสาท
  • ตรวจลักษณะของก้อนเนื้อ ขนาด ความแข็ง การเคลื่อนที่ และความสัมพันธ์กับเนื้อเยื่อรอบข้าง
  • ตรวจ Ultrasound จะเป็นการตรวจเบื้องต้นเพื่อช่วยในการประเมินลักษณะของก้อนเนื้อเยื่อ เช่น ขนาด รูปร่าง และตำแหน่ง ซึ่งจะนำไปสู่การตรวจภาพทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น MRI หรือ CT Scan เพื่อให้การวินิจฉัยชัดเจนยิ่งขึ้น
  • ตรวจ CT Scan หรือ Magnetic Resonance Imaging (MRI) จะช่วยในการประเมินขนาดและลักษณะของก้อน รวมทั้งประเมินว่ามะเร็งได้ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อรอบข้างหรืออวัยวะอื่น ๆ หรือไม่
  • ตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) เป็นขั้นตอนสำคัญในการวินิจฉัยมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Soft Tissue Sarcoma) เพื่อยืนยันการมีมะเร็งและประเภทของเซลล์มะเร็ง และจะช่วยในการกำหนดวิธีการรักษาให้แก่คนไข้ การตรวจชิ้นเนื้อสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่
    1. Core Needle Biopsy วิธีนี้ใช้เข็มเจาะดึงชิ้นเนื้อเยื่อจากเนื้องอก เหมาะสำหรับเนื้องอกที่อยู่ลึกหรืออยากที่จะเข้าถึง
    2. Excisional Biopsy เป็นการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกทั้งหมดออกมา เพื่อใช้ในการตรวจชิ้นเนื้อ โดยการตัดเอาก้อนทั้งหมดมาทดสอบ วิธีนี้เหมาะสำหรับเนื้องอกที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและไม่ใหญ่มากมชิ้นเนื้อที่ได้จะถูกส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อดูลักษณะเซลล์ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และชนิดของมะเร็งเป็นประเภทใด

รักษามะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

แพทย์จะนำผลการตรวจชิ้นเนื้อและผลการประเมินระยะของโรคมาพิจารณาเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย

แนวทางการรักษา ได้แก่

  1. รักษาเนื้องอกเนื้อเยื่ออ่อนชนิดไม่ร้ายแรง (Benign Soft Tissue Tumors)

    โดยทั่วไปหากเนื้องอกเนื้อเยื่ออ่อนชนิดไม่ร้ายแรง (Benign Soft Tissue Tumor) ไม่แสดงอาการใด ๆ หรือมีขนาดเล็ก และไม่โตขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใด อย่างไรก็ตามแพทย์อาจแนะนำให้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยการตรวจร่างกายเป็นระยะ ๆ หรือทำการตรวจอัลตราซาวนด์ MRI หรือ CT Scan เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของเนื้องอก 

    แต่หากเนื้องอกเนื้อเยื่ออ่อนชนิดไม่ร้ายแรงนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการปวดหรืออาการอื่น ๆ ที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีการกดทับอวัยวะสำคัญ แพทย์อาจพิจารณาทำการรักษาโดยการผ่าตัด

  2. รักษามะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนหรือเนื้องอกเนื้อเยื่ออ่อนชนิดร้ายแรง (Soft Tissue Sarcoma) มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด ตำแหน่ง และระยะของโรค โดยแนวทางการรักษาที่ใช้ ได้แก่ 
    • การผ่าตัด (Surgery) เป็นวิธีหลักในการรักษา Soft Tissue Sarcoma การผ่าตัดจะทำโดยตัดเนื้องอกออกให้หมด รวมถึงเนื้อเยื่อรอบ ๆ ที่อาจมีเซลล์มะเร็งแทรกซึมอยู่ เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ
    • การฉายรังสี (Radiation Therapy) ใช้เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจจะเหลืออยู่หลังการผ่าตัด ในบางกรณีอาจจะใช้การฉายรังสีก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของเนื้องอกให้เล็กลงและทำให้การผ่าตัดง่ายขึ้น
    • เคมีบำบัด (Chemotherapy) ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เคมีบำบัดมักใช้ในกรณีที่มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย หรือในกรณีที่มะเร็งมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมาเป็นซ้ำหลังการผ่าตัดและการฉายรังสี
    • ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) และภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีโปรตีนหรือยีนผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของมะเร็ง มักใช้กับมะเร็งที่มีการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม

การป้องกันมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนไม่มีวิธีป้องกัน การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอคือสิ่งสำคัญ 

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ 
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ 
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์ 
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี 
  • หมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น หากมีอาการควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งโดยเร็วที่สุด

โรงพยาบาลที่ชำนาญการรักษามะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนที่ไหนดี

ศูนย์ศัลยกรรมมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีทันสมัย แพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญและมากด้วยประสบการณ์ พร้อมให้การตรวจวินิจฉัยมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนและเลือกวิธีรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล ตลอดจนมีทีมสหสาขาคอยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

แพทย์ที่ชำนาญการรักษามะเร็งมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

นพ.วุฒิ สุเมธโชติเมธา ศัลยแพทย์ด้านมะเร็งสำไส้ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง

แพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็ง

แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ราคาเริ่มต้นที่ 6,500 บาท

คลิกที่นี่