มะเร็งกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร
ข้อเท็จจริง
- กระบวนการย่อยอาหารส่วนใหญ่เกิดในกระเพาะอาหารแล้วส่งผ่านอาหารที่ผ่านกระบวนย่อยส่วนหนึ่งแล้วไปที่ลำไส้เพื่อเริ่มกระบวนการดูดซึมสารอาหาร
- ในประเทศอเมริกา มะเร็งกระเพาะอาหารถูกจัดเป็นอันดับที่ 14 ของโรคมะเร็งทั้งหมด พบมากที่สุดในประเทศแถบเอเชียตะวันออก (เช่น ญี่ปุ่นและจีน) คาดว่าน่าจะเกิดจากอาหารที่ปิ้งย่างไหม้ ๆ อาหารเค็ม และอาหารหมักดอง ในประเทศไทยพบมะเร็งกระเพาะอาหารได้บ่อยเช่นเดียวกัน
- มีการศึกษาพบว่า มะเร็งกระเพาะอาหารมีความสัมพันธ์กับเชื้อ Helicobacter Pylori เชื้อ H. Pylori มีผลทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง ดังนั้นความเกี่ยวข้องของการทำให้เกิดโรคของเชื้อนี้อาจอธิบายอัตราการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารสูงในผู้ป่วยติดเชื้อ H. Pylori มากกว่า 90% ของมะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากผนังเยื่อบุกระเพาะอาหาร เนื่องจากที่เยื่อบุอาหารมีต่อมมะเร็งกระเพาะอาหารที่เกิดจากต่อมจึงเรียกว่า อะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma)
- มีมะเร็งชนิดอื่นที่เกิดจากกระเพาะอาหาร เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเกิดจากต่อมน้ำเหลือง ไลโอไมโอซาร์โคมาเกิดจากกล้ามเนื้อสแควมัส เซล คาร์สิโนมา เกิดจากเยื่อบุบริเวณที่ไม่มีต่อม
อาการ
มะเร็งกระเพาะอาหารมักไม่มีอาการแสดงเฉพาะ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการไม่ชัดเจน เช่น
- ปวดท้องส่วนบน
- เบื่ออาหาร
- อาเจียนเป็นพัก ๆ
- เรอ
- รับประทานอาหารได้น้อยลง
อาการของมะเร็งกระเพาะอาหารอาจเป็นอาการเดียวกับอาการของผู้ป่วยแผลในกระเพาะอาหารหรือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ทำให้การวินิจฉัยจากอาการอาจทำได้ค่อนข้างยาก อาการอื่น ๆ เช่น
- อาเจียนเป็นเลือด
- มีปัญหาการกลืน
- น้ำหนักลดลงอย่างไม่มีสาเหตุ
- อ่อนเพลีย
- ถ่ายดำ
มะเร็งกระเพาะอาหารมักพบเมื่อมะเร็งลุกลามแล้ว เนื่องจากไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก ๆ เพราะอาการแสดงที่ไม่ชี้เฉพาะดังที่กล่าวเบื้องต้น
การตรวจวินิจฉัย
- การส่องกล้องใช้ในการวินิจฉัยได้มากกว่า 95% การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนใช้เพื่อการวินิจฉัยและระบุขั้นของมะเร็งกระเพาะอาหาร
- การส่องกล้องรุ่นใหม่ ๆ จะมีการใช้อัลตราซาวนด์ช่วยในการส่องกล้องด้วย (EVS) สามารถบอกรายละเอียดการลุกลามและการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองได้ดีกว่า
- การใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ PET/CT จะช่วยในการบอกระยะของโรคโดยรวมได้ดี เฉพาะการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง ตับ ปอด หรืออวัยวะอื่น ๆ
การบำบัดรักษา
- การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรก ๆ ส่วนมาก ใช้การผ่าตัดเพียงอย่างเดียว
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารบางส่วนเป็นการผ่าตัดเพื่อตัดเอาบางส่วนของกระเพาะอาหารออกเท่านั้น
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารทั้งหมด เป็นการผ่าตัดเพื่อตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมด
- ในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารระยะลุกลาม ถ้าใช้วิธีการรักษาโดยการผ่าตัดอย่างเดียว มะเร็งมักกลับมาอีก มากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ มะเร็งจะกลับมาพร้อมกับการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง และบางคนมะเร็งกลับเป็นซ้ำอีกและมีการลุกลามไปอวัยวะอื่นด้วย
- การฉายรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด มักแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารขั้น 1 บีหรือ ขั้นสูงกว่า (มะเร็งลุกลามไปที่ผนังกระเพาะอาหารมากขึ้น หรือมีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง) การรักษาที่ใช้การฉายรังสีรักษาและยาเคมีบำบัดร่วมด้วยจะได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น
- ยาเคมีบำบัดมาตรฐานที่ใช้ในการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารคือ 5-เอฟยู (5-FU) ร่วมกับยาฉีดลิวโคโวริน (Leucovorin) เข้าทางหลอดเลือดดำ ผลข้างเคียงของ 5-เอฟยูและยาลิวโคโวรินคือ คลื่นไส้ ท้องเสีย สีผิวเปลี่ยนและแผลในปาก มีการศึกษาการใช้ยาเคมีบำบัดอื่นๆเช่น ซิสปลาติน (Cisplatin) ออกซาโลปลาติน (Oxaloplatin) อีพิรูบิซิน (Epirubicin) แต่ 5-เอฟยูและยาลิวโคโวรินยังคงเป็นยามาตรฐานในการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
ผู้เขียน
นพ.วุฒิ สุเมธโชติเมธา แพทย์ศัลยศาสตร์ด้านโรคมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ