คลินิกระงับปวด

เกี่ยวกับเรา

คลินิกระงับปวด พร้อมบรรเทาและดูแลรักษาอาการปวด (Pain Management) ทั้งอาการปวดแบบเฉียบพลัน หรืออาการปวดที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังทั้งจากมะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง โดยดูแลครอบคลุมผลข้างเคียงจากการรักษาเฉพาะทางโรคมะเร็ง โดยทีมแพทย์ที่มาพร้อมการรักษาแบบองค์รวม เลือกสรรแนวทางให้เหมาะกับลักษณะของโรค ระดับอาการ รวมถึงสภาพร่างกายและจิตใจ ค่อย ๆ ลดระดับความปวดจนหาย เข้าสู่กระบวนการรักษาต้นเหตุของโรคและอาการได้อย่างถูกต้อง

จุดเด่นของเรา

  • ค้นหาสาเหตุและรักษาบำบัดอาการปวด มีทั้งการให้ยาและการทำหัตถการในการระงับปวด
  • ให้ทางเลือกกับผู้ป่วยในการรักษา บำบัดอาการ ร่วมไปกับทีมแพทย์สหสาขาของทางโรงพยาบาล
  • การดูแลแบบองค์รวม รับฟังอย่างตั้งใจ และเน้นให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจในการดูแลตนเอง (Empowerment)
  • สร้างเป้าหมายการดูแลปวดเรื้อรังร่วมไปกับผู้ป่วย เน้นการปรับ Life Style เพื่อมุ่งเป้าการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

บริการทางการแพทย์

สำหรับผู้ป่วยที่มีความปวดแบ่งตามสาเหตุความปวด

  • ความปวดแบบเฉียบพลัน (Acute Pain) คืออาการเกิดขึ้นยังไม่ถึง 3 เดือน อาทิ
    • ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเฉียบพลันทั่วไป เช่น ปวดกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย หรือเป็นส่วน ๆ
    • ผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่มีความซับซ้อนในการดูแลรักษา (Post – Surgical Pain Syndrome) เช่น ปวดภายหลังตัดแขนขา (Post Amputation Pain Syndrome)
  • ความปวดแบบเรื้อรัง (Chronic Pain) คือ ความปวดที่เป็นต่อเนื่องมาแล้วมากกว่า 3 เดือน อาทิ
    • ผู้ป่วยที่มีอาการปวดในระดับยากต่อการควบคุม เช่น ผู้ป่วยที่ปวดจากเหตุพยาธิสภาพประสาท (Neuropathic Pain) ปวดเส้นประสาทเหตุจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ จากการติดเชื้อ เช่น โรคงูสวัด
    • ผู้ป่วยที่ปวดรุนแรงจากตับอ่อนอักเสบที่ต้องการยาแก้ปวดชนิดแรง หรือต้องการทำหัตถการเพื่อสกัดกั้นเส้นประสาท (Nerve Block) ฯลฯ
    • กลุ่มผู้ป่วยจากอาการปวดหลังเรื้อรัง
    • ผู้ป่วยปวดจากโรคหลอดเลือด (Vascular) ขาดเลือด เช่น เป็นแผลจากเบาหวาน ซึ่งเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางแล้วยังมีอาการปวดอยู่
  • ความปวดจากมะเร็ง (Cancer Pain) อาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง (Cancer Pain) เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น
    • อาการปวดจากก้อนมะเร็ง เพราะก้อนมะเร็งไปกดทับเส้นประสาทและลุกลามไปที่กระดูก
    • อาการปวดท้อง และหรือปวดหลังที่เกิดจากมะเร็งช่องท้องส่วนบน เช่น มะเร็งตับอ่อน
    • อาการปวดจากการรักษามะเร็ง เช่น การได้รับยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยวิธีฉายแสง หรือผ่าตัด ฯลฯ
    • ในส่วนการดูแลผู้ป่วยที่มีการลุกลามของโรคมะเร็ง ยังให้คำปรึกษาตามแนวทางการดูแลประคับประคอง ซึ่งทำให้ครอบคลุม Total Pain อีกด้วย

เครื่องมือและเทคนิคการรักษา

  • การให้ยาที่บำบัดความปวด ที่มีทั้งยาแก้ปวดกลุ่มต่าง ยา Non Opioid เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), Opioids และยากลุ่มเสริมเพื่อร่วมรักษา (Adjuvant Analgesics)
  • การทำหัตถการในการระงับปวด
    • Trigger Point Injection หรือ Dry Needling กรณีปวดกล้ามเนื้อที่มีจุดกดเจ็บ เช่น Myofascial Pain Syndrome
    • Epidural Steroid Injection ทั้งเทคนิคที่ฉีดเข้า Interlaminar หรือ Selective Nerve Root Block ใช้ยาชาเฉพาะที่ และ/หรือสเตียรอยด์ฉีดเข้าช่องเอปิดูรัลที่อยู่เหนือไขสันหลังในการบำบัดอาการปวดหลังที่มักมีอาการร้าวตามแนวของเส้นประสาทคู่มี่ไขสันหลังมีพยาธิสภาพนั้น
    • Facet Joint Injection เป็นการฉีดยาชาเฉพาะที่ และ/หรือสเตียรอยด์เข้าสู่ข้อ Facet ที่เป็นส่วนของข้อต่อกระดูกสันหลัง เพื่อบำบัดอาการปวดหลังที่ไม่ร้าวลงขา
    • RFA (Radiofrequency Ablation) การใช้คลื่นวิทยุผ่านทางเข็มที่นำมาต่อนำผ่านเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนเป็นช่วง เพื่อลดปวดเรื้อรัง เช่น ปวดหลังในกรณีที่การทำหัตถการที่ใช้ยาฉีดที่ข้อ Facet ลดปวดได้ดี และต้องการยืดเวลาออกไปเป็น 6 – 12 เดือน
    • Sympathetic Block เพื่อสกัดกั้นระบบประสาทความปวดที่มีผลต่อการตีบของหลอดเลือด (Sympathetic Nervous System) ในกลุ่ม Sympathetic Maintained Pain ที่มีอาการปวดแขน ขา เช่น จากอุบัติเหตุ
    • Neurolytic Celiac Plexus Block คือ ฉีดยาเพื่อทำลายกลุ่มเส้นประสาท Autonomic บริเวณ Celiac Plexus ยาที่ฉีดเพื่อทำลายประสาท (Neurolytic Agent) เช่น 50 – 90% Alcohol สำหรับผู้ป่วยปวดรุนแรงจากมะเร็งช่องท้องส่วนบน เช่น มะเร็งตับอ่อน
    • Intrathecal Drug Delivery Device Implantation คือ การใช้เทคนิคการฝังสายในชั้นใต้ผิวหนัง บริเวณช่องท้องเพื่อเข้าสู่ช่องน้ำไขสันหลังเพื่อให้ยาลดปวด เหมาะในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาแก้ปวด Opioids ปริมาณมากจนเกิดผลไม่พึงประสงค์ ซึ่งยาที่เข้าตรงช่องน้ำไขสันหลังจึงลดปริมาณยา Opioids ลงได้ มีทั้งโดยใช้อุปกรณ์ให้ยาอัตโนมัติ (Intrathecal Pump) หรือแบบเติมเป็นช่วงเวลา
    • Spinal Cord Stimulation คือ การใส่เครื่องกระตุ้นไขสันหลัง โดยฝังอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าอ่อน ผ่านมายังสายนำไฟฟ้าที่ฝังในชั้นเหนือเยื่อหุ้มไขสันหลัง สำหรับปวดจากเหตุพยาธิสภาพประสาท เช่น ปวดแขนขาจากการขาดเลือด Complex Regional Pain Syndrome

ข้อมูลก่อนเข้ารับบริการ

ความปวดเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้ทั้งจากโรคมะเร็งและโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง ในขั้นตอนรักษาอาการปวด แพทย์จะเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมตามลักษณะ สาเหตุ อาการปวดที่พบ โดยผ่านการวินิจฉัยอย่างละเอียดถูกต้อง ทั้งนี้คลินิกระงับปวดจะให้คำปรึกษาและให้ทางเลือกกับผู้ป่วยในการรักษา บำบัดอาการ ร่วมไปกับทีมแพทย์สหสาขาของโรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น