ศูนย์ดูแลคุณภาพชีวิต

เกี่ยวกับเรา

ศูนย์ดูแลคุณภาพชีวิต โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ พร้อมให้บริการผู้ป่วยครอบคลุมเรื่องการดูแลรักษาความปวด ทั้งความปวดแบบเฉียบพลัน ความปวดแบบเรื้อรัง และความปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง และให้การดูแลผู้ป่วยกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง คือ ผู้ป่วยระยะท้าย ผู้ป่วยระยะสุดท้าย และผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ทำให้มีอายุสั้น ซึ่งให้ดูแลประคับประคองอาการต่าง ๆ ร่วมไปกับแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา รังสีรักษา และแพทย์ด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติเป็นหลักเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติสามารถเผชิญกับโรคได้อย่างเข้มแข็ง

บริการของศูนย์ดูแลคุณภาพชีวิต ประกอบด้วย

1. คลินิกระงับปวด

คลินิกระงับปวด พร้อมให้บริการดูแลรักษาความปวด ครอบคลุมทั้งความปวดแบบเฉียบพลัน ความปวดแบบเรื้อรัง และความปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดย

การดูแลความปวดแบบเฉียบพลัน (Acute Pain)

ทางศูนย์มีบริการให้คำปรึกษาและรักษาผู้ป่วยกลุ่มที่มีความปวดแบบเฉียบพลัน (Acute Pain) ซึ่งเป็นความปวดที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับอันตราย มีการบาดเจ็บหรือมีพยาธิสภาพจนกระทั่งการบาดเจ็บหรือพยาธิสภาพนั้นหายไป เป็นความปวดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและไม่เกิน 3 เดือน โดยให้การรักษาตามชนิดของความปวด เช่น ผู้ป่วยปวดหลังผ่าตัด ผู้ป่วยที่มีความปวดที่มีสาเหตุจากการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ (Nociceptive Pain) ผู้ป่วยที่มีความปวดที่มีผลจากการบาดเจ็บหรือการทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาท (Neuropathic Pain) ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลายหรือส่วนกลาง โดยลักษณะความปวดจะเป็นแบบปวดแสบปวดร้อน ปวดเหมือนเข็มทิ่มตำ ปวดเมื่อสัมผัส (Allodynia) หรือปวดมากขึ้นแม้ว่าความแรงของการกระตุ้นความปวดปกติ (Hyperalgesia) รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการปวดแบบเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ

การดูแลรักษาความปวดที่เป็นโรคปวดเรื้อรัง (Chronic Pain)

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความปวดมาแล้วมากกว่า 3 เดือน ที่พบบ่อยคือ กลุ่มผู้ป่วยปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งบางครั้งเราพบว่าผู้ป่วยบางรายที่รักษาโดยการทำ กายภาพบำบัด หรือการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัดแล้วยังมีอาการปวดอยู่ แพทย์และทีมบุคลากรที่ร่วมให้การดูแลรักษาจะทำหัตถการเช่น การฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในช่องเหนือไขสันหลัง (Epidural Steroid) เพื่อลดอาการปวดหลัง นอกจากนี้กลุ่มผู้ป่วยปวดเรื้อรังอย่างอื่น เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด Vascular โรคแขนขาขาดเลือดที่เข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางแล้วยังมีอาการปวด ต้องได้รับการทำหัตถการเพื่อยับยั้ง ระบบประสาทในกรณีที่มีการตีบของหลอดเลือด (Sympathetic Block) หรือร่วมกับทีมแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นความปวดจากพยาธิสภาพประสาทของเบาหวาน เป็นต้น

การดูแลรักษาความปวดจากโรคมะเร็ง (Cancer Pain)

ความปวดจากโรคมะเร็ง (Cancer Pain) เป็นความปวดที่อาจแสดงได้ทั้งสองอย่าง (ปวดแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง) ความปวดแบบนี้สัมพันธ์กับการดำเนินโรค และ/หรือการรักษา กล่าวคือ

  • อาการปวดจากก้อนมะเร็ง : โดยก้อนมะเร็งไปกดเบียดอวัยวะอื่น กดทับเส้นประสาท หรือลุกลามไปที่กระดูก จึงปวดได้ทุกที่ขึ้นกับว่าก้อนมะเร็งอยู่ที่ตำแหน่งใด
  • อาการปวดจากการรักษามะเร็ง : การรักษามะเร็งมีหลายวิธี เช่น การได้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง หรือการผ่าตัด ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้

ทางศูนย์มีบริการให้คำปรึกษาและรักษาความปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยใช้มาตรฐานการรักษาความปวดตามแนวทางของสมาคมการศึกษาเรื่องความปวดต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งแต่ละรายที่มีความปวดได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการดูแลความปวดที่มีสาเหตุจากจิตใจผู้ป่วยเอง

2. การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care)

พร้อมให้บริการโดยให้ความสำคัญกับตัวผู้ป่วยและครอบครัวเป็นหลัก เน้นให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการรักษา โดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เพื่อช่วยให้ผ่านวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบ สบาย และมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยยึดถือตามความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรมของผู้ป่วยและครอบครัว และมุ่งช่วยลดอาการเจ็บป่วยและทุกข์ทรมานจากโรคที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความสุขสบายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และครอบคลุมถึงการตอบสนองทางด้านจิตวิญญาณ เพื่อทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ส่งเสริมให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอย่างปกติที่สุดระหว่างการรักษา นอกจากนี้ยังให้การดูแลครอบคลุมถึงผู้ใกล้ชิดและครอบครัวผู้ป่วย ทั้งในระยะที่ผู้ป่วยยังมีชีวิตอยู่และหลังจากที่ผู้ป่วยเสียเสียชีวิตไปแล้ว

นอกจากนี้ยังให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการต่าง ๆ ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สุขสบายทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น

  • ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลหรือซึมเศร้า เรามีทีมในการเข้าไปช่วยเหลือดูแล พูดคุย หรือส่งต่อให้กับจิตแพทย์ และช่วยประคับประคองอาการร่วมกับแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา
  • ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดแล้วทำให้เกิดสภาวะเยื่อบุอักเสบบริเวณในปากหรือในช่องท้องที่มีอาการเจ็บปากอย่างมากรับประทานยาไม่ได้ ซึ่งโดยปกติอาการปวดเหล่านี้จะเป็น 1 – 2 สัปดาห์จะมีแนวทางสำหรับดูแลผู้ป่วยที่เป็นเยื่อบุช่องปากอักเสบ อาจจำเป็นจะต้องให้ยาเข้าเส้นและใช้เครื่องมือพิเศษ เช่น Patient Control Analgesia (PCA) เป็นยาที่คนไข้สามารถกดให้เองหรืออาจจะปรับยาให้เข้าเส้นแบบต่อเนื่องตลอดเวลาเป็นต้น

ในกรณีที่มะเร็งกระจายไปแล้ว ผู้ป่วยจะต้องอยู่กับความปวด แพทย์ที่ทำการรักษาจะขอคำปรึกษากับทีม Pain Management เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น เมื่อดูแลผู้ป่วยไปในระยะหนึ่งคุณภาพชีวิตอาจจะไม่ใช่เฉพาะเรื่องทางกาย อาจจะมีความวิตกกังวลต่าง ๆ ทีมพยายามหาต้นเหตุปัจจัยที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขได้ ส่งเสริมการทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อช่วยทำให้คนไข้รู้สึกดีกับชีวิต เช่น

  • การฝึกให้ผู้ป่วยดูแลพันผ้าโพกผ้าเพื่อให้ออกไปเข้าสังคมได้ตามปกติ เมื่อผมร่วงหลังการได้รับเคมีบำบัด
  • การทำอาหารสุขภาพเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่ดี ทำให้มีแรงที่จะต่อสู้กับมะเร็ง
  • การทำ Group Therapy ทำให้ผู้ป่วยมีแรงจูงใจในกลุ่มที่จะดูแลสนับสนุนซึ่งกันและกันในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยกัน การพูดคุยปรึกษาปัญหาระหว่างกัน ซึ่งบางครั้งอาจจะได้ผลดีกว่าคุยกับแพทย์โดยตรง
  • การจัดกิจกรรมโดยใช้เสียงเพลงหรือการใช้การวาดภาพ Music and Art Therapy ซึ่งสามารถดึงให้ผู้ป่วยเข้าใจจิตใจตัวเองและผ่อนคลาย สามารถนำกลับไปทำที่บ้านเอง กิจกรรมเหล่านี้จะเชิญครอบครัวของผู้ป่วย (Care Giver) มาทำกิจกรรมร่วมกัน เราเรียกว่า Think Positive Club โดยสมาชิกประกอบด้วยผู้ป่วยและกลุ่มญาติที่ดูแล
  • การติดตามดูแลญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิต (Bereavement Care) ทางโรงพยาบาลจะติดต่อพูดคุยกับญาติ ซึ่งให้การดูแลผู้ป่วย เพราะการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว อาจเป็นเหตุให้ญาติของผู้ป่วยกลายเป็นผู้ป่วยไปอีกหนึ่งคนด้วยอาการของโรคซึมเศร้า การดูแลแบบ Bereavement Care ให้กับญาติผู้ป่วย เป็นหนึ่งในการดูแลที่ครอบคลุมของ Palliative Care ทั้งทางกายและใจ ครอบครัว สังคม
  • การเตรียมพร้อมสำหรับการเสียชีวิตแบบสงบ (Good Dead) ผู้ป่วยสามารถรับคำปรึกษาจากทีมแพทย์ Palliative Care ได้ตลอดเวลาในช่วงเวลาที่เข้ารับการรักษา

สอบถามเพิ่มเติมที่
ศูนย์ดูแลคุณภาพชีวิตวัฒโนสถ
เปิดบริการทุกวัน