เครื่องดิจิทัลแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์เต้านม
Share
มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมเกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในต่อมน้ำนมหรือท่อน้ำนม หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่อาจจะมีการแพร่กระจายไปตามต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หลอดเลือดและอวัยวะอื่น ๆ ได้แก่ กระดูก ตับ ปอด และสมอง ดังนั้นการค้นพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรกในขณะที่ก้อนมีขนาดเล็กและยังไม่แพร่กระจายจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเพิ่มโอกาสการรักษาโรคให้หายขาดได้มากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ได้แก่
- มีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย
- ไม่มีบุตร
- เคยได้รับการฉายแสงที่ทรวงอก
- ทานยาคุมกำเนิดและรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะเวลานาน
- ภาวะอ้วน
- การสูบบุหรี่
ผู้ที่ควรรับการตรวจค้นหามะเร็งเต้านม
- ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- มีบุคคลในครอบครัวสายตรงป่วยเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน
- มีอาการของเต้านม เช่น คลำได้ก้อนที่เต้านมหรือใต้รักแร้ มีการเปลี่ยนแปลงของหัวนม เช่น มีของเหลวหรือเลือดออกจากหัวนม หัวนมผิดตำแหน่ง เช่น ยุบลงไปหรือถูกดึงรั้งไปทางอื่น หรือผื่นรอบหัวนม หรือรู้สึกเจ็บเต้านม
- บุคคลที่มีผลการตรวจทางพันธุกรรมที่ผิดปกติ ได้แก่ ยีน BRCA-1 และ BRCA-2
- ผู้ป่วยที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกในเต้านมเพื่อติดตามผลการรักษา
ตรวจดิจิทัลแมมโมแกรมควบคู่กับอัลตราซาวนด์เต้านม
- การตรวจดิจิทัลแมมโมแกรม เป็นเทคโนโลยีการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษ คล้ายกับการตรวจเอกซเรย์ แต่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป 30 – 60% มีประสิทธิภาพในการตรวจหามะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เนื่องจากภาพที่ได้จากการตรวจมีความละเอียดสูง สามารถเห็นจุดหินปูนหรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกติขนาดเล็ก ทำให้สามารถระบุตำแหน่งและค้นหาความผิดปกติของเต้านมได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และรวดเร็วมากขึ้น
- การตรวจอัลตราซาวนด์เต้านม เป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม ซึ่งสามารถบอกความแตกต่างขององค์ประกอบเนื้อเยื่อได้ว่าเป็นเนื้อเยื่อเต้านมปกติ เป็นถุงน้ำ หรือเป็นก้อนเนื้อ หากพบว่าเป็นก้อนเนื้อ การอัลตราซาวนด์จะช่วยบอกว่าก้อนเนื้อนั้นมีความเสี่ยงหรือความน่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ และช่วยเพิ่มความสามารถในการตรวจพบความผิดปกติของเต้านมในผู้ป่วยที่มีเนื้อเต้านมหนาแน่นได้ อย่างไรก็ตามการอัลตราซาวนด์จะไม่สามารถตรวจพบหินปูนได้
ดังนั้นการตรวจดิจิทัลแมมโมแกรมและการอัลตราซาวนด์เต้านมควบคู่กันจะช่วยเพิ่มความถูกต้องชัดเจนในการค้นหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก นำไปสู่การวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพต่อไป
เตรียมตัวก่อนตรวจ
- รับประทานอาหาร ดื่มน้ำได้ตามปกติ
- ไม่ควรทาโลชั่น แป้งฝุ่น รวมถึงสเปร์ยต่าง ๆ บริเวณเต้านมและรักแร้
- หากเคยตรวจแมมโมแกรมหรือดิจิทัลแมมโมแกรมมาก่อนควรนำภาพและผลตรวจเดิมมาเพื่อเปรียบเทียบดูความแตกต่าง
- หากมีอาการผิดปกติของเต้านมควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
รถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ระบบดิจิทัล
รถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ระบบดิจิทัลช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการบริการเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกได้สะดวกและรวดเร็ว จากเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้วินิจฉัยได้อย่างถูกต้องและชัดเจน อีกทั้งสามารถเก็บข้อมูลหน่วยความจำในคอมพิวเตอร์และฟิล์ม ทำให้สามารถนำผลตรวจที่ได้ไปปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น