การรักษามะเร็งด้วยเข็มความร้อน (RF)
Share
- มะเร็งตับและมะเร็งปอด ยังคงป็นมหันตภัยสำหรับชีวิตคนไทยในปัจจุบัน ยังไม่รวมถึงมะเร็งบริเวณอื่น ๆ ที่มีการกระจายมาที่ตับหรือปอด ยิ่งทำให้โอกาสในการได้รับการรักษาของผู้ป่วยน้อยลงไปทุกที
- ทั่วโลกประสบปัญหาเช่นเดียวกัน มีผู้ป่วยเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่รักษาด้วยการผ่าตัด แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้สูญเสียโอกาสนั้นไป อาจเพราะเป็นในระยะมากเกินกว่าการผ่าตัดจะได้ผลดี หรือเพราะสภาพร่างกายไม่พร้อมต่อการผ่าตัด
- วงการแพทย์ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาเครื่องมือที่เข้ามาช่วยชีวิตผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมาก เช่น การฉายแสง การให้เคมีบำบัด หรือการรักษาด้วยยาก็ตาม
- ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามอย่างมากในการพัฒนาการรักษาที่ให้ผลใกล้เคียงกับการผ่าตัด โดยใช้วิธีไม่ผ่าตัด หนึ่งในวิธีนั้นคือ การรักษาผ่านผิวหนังด้วยการสอดเข็ม โดยอาศัยครื่องมือ เช่น อัลตราซาวนด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในการนำทาง ซึ่งเมื่อปลายเข็มอยู่ในตัวก้อนภายในอวัยวะที่จะทำการรักษาแล้ว แพทย์จะสามารถทำการรักษาได้อีกหลายวิธี
การรักษาด้วยวิธี RF
- พลังงานคลื่น RF (Radiodofrequency) เป็นพลังงานที่สามารถส่งความร้อนผ่านปลายเข็มให้กระจายออกในลักษณะรูปทรงต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการตายของเซลล์มะเร็งอย่างถาวร ให้มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกได้
- การใช้เข็ม RF ในการรักษาปัจจุบันใช้กับก้อนเนื้องอกที่ตับ ขนาดไม่เกิน 4 เซนติเมตร และมีจำนวนไม่เกิน 4 ก้อน รวมทั้งใช้กับก้อนเนื้อที่ปอดที่มีขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตรได้เช่นเดียวกัน
- นอกจากนี้ในกรณีที่ต้องการหลีกเลี่ยงการผ่าตัด สามารถใช้วิธีการนี้ในการรักษาก้อนเนื้อที่ไต ต่อมหมวกไต และกระดูกได้เช่นเดียวกัน
ข้อดีของการรักษาด้วยวิธี RF
- สามารถหลีกเลี่ยงการผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดใหญ่ ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ แต่ใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ หรือยานอนหลับ
- หลังการรักษาจะมีเพียงแผลขนาดเล็ก ๆ หรืออาจไม่เห็นรอยแผลเป็นเลยในอนาคต
- ผู้ป่วยอาจพักในโรงพยาบาลเพียง 1 – 2 วัน และกลับไปทำกิจกรรมหรือทำงานได้ตามปกติภายในเวลาอันรวดเร็ว
- โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำมากเมื่อเทียบกับการผ่าตัด เพราะนอกจากจะลดโอกาสเสี่ยงในการดมยาสลบแล้ว โอกาสในการเสียเลือดหรือการทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายก็เกิดขึ้นน้อยมาก
- ในกรณีการรักษาที่ตับ โอกาสในการตกเลือดในช่องท้องเกิดได้เพียงร้อยละ 3 แต่ส่วนใหญ่จะหยุดได้เอง
- ในกรณีการรักษาที่ปอด มีโอกาสเกิดลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดได้ประมาณร้อยละ 10 ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการสอดท่อระบายลม โดยทั่วไปการรักษาจะทำเพียงครั้งเดียว มีบางรายอาจต้องมีการทำซ้ำในครั้งที่ 2 เพื่อให้ก้อนเนื้อตายอย่างสมบูรณ์
- ผลการรักษาในก้อนเนื้อที่ตับให้ผลใกล้เคียงกับการผ่าตัด ในขณะที่ภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่ามาก
- การรักษาที่ปอดเมื่อทำร่วมกับการรักษาอื่น ๆ เช่น การฉายแสงและการให้เคมีบำบัดจะให้ผลการรักษาที่ดีมากเช่นเดียวกัน
นับเป็นอีกทางเลือกในการรักษา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เป็นความหวังในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง การรักษามะเร็งด้วยการฝังเข็มคลื่นความร้อน (RF) สามารถให้การรักษาได้ในมะเร็งตับและมะเร็งปอด
การรักษามะเร็งตับด้วยการฝังเข็มคลื่นความร้อน (RF)
- ก้อนเนื้อหรือมะเร็งตับ ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเพราะผู้ป่วยอาจมีภาวะตับแข็ง หรือภาวะตับอักเสบร่วมด้วย การรักษาที่ได้ผลส่วนใหญ่ คือ การรักษาผ่านหลอดเลือดโดยการให้ยาเคมี และสารอุดกั้นหลอดเลือด
- ปัจจุบันการรักษาก้อนเนื้อหรือมะเร็งตับที่มีขนาดเล็กกว่า 4 – 5 เซนติเมตร ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้จะใช้วิธีการรักษาที่เรียกว่า RF ซึ่งเป็นการสอดเข็มขนาดเล็กเข้าไปในตับเพื่อให้ปลายเข็มวางอยู่ตำแหน่งของก้อนเนื้อ โดยอาศัยการนำทางด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรืออัลตราซาวนด์ จากนั้นจะให้พลังงานที่เรียกว่า RadioFrequency (RF) ผ่านเข็มเข้าสู่ก้อนเนื้อ ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนภายในตัวก้อนเนื้อ โดยจะได้รับอุณหภูมิสูงเกือบ 100 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 20 – 40 นาที (ขึ้นกับขนาดและจำนวนของตัวก้อนนั้น) วิธีการนี้เปรียบเสมือนการเผาก้อนเนื้อในตับนั่นเอง ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื้อตับส่วนดีน้อยที่สุด
- การรักษาด้วยวิธี RF มีข้อดี คือ ไม่ต้องผ่าตัด เพียงแต่ใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือใช้ยานอนหลับในปริมาณเล็กน้อย ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล 1 – 2 วันเท่านั้น ปัจจุบันใช้ในการรักษามะเร็งตับ มะเร็งชนิดอื่นที่แพร่กระจายมาที่ตับ หรือกระทั่งมะเร็งปอดในบางกรณี
การรักษาด้วยวิธี RF ที่ทันสมัยนี้มีให้บริการที่โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ด้วยทีมแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ประกอบด้วยรังสีแพทย์ร่วมกับแพทย์มะเร็งวิทยาและแพทย์ระบบทางเดินอาหาร
การรักษามะเร็งปอดด้วยการฝังเข็มคลื่นความร้อน (RF)
- มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย แม้ว่าเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยในปัจจุบันจะก้าวหน้ามากเพียงใด แต่การตรวจค้นเจอมะเร็งในระยะเริ่มต้น ยังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพดีนัก
- การผ่าตัดยังคงเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดในการรักษามะเร็งปอด ขณะเดียวกันยังอาจต้องร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การอ่านผลหรือการให้ยาเคมีบำบัด
- ผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดหรือร่างกายไม่พร้อมที่จะ ทำการผ่าตัด ปัจจุบันมีการรักษาหลายชนิดที่เข้ามาทดแทนการผ่าตัดได้ เช่น การผ่าตัดส่องกล้องผ่านหลอดลมหรือผ่านปอด รวมทั้งการรักษาวิธีใหม่ที่ได้รับความยอมรับมาขึ้นในปัจจุบัน คือ การ รักษาโดยใช้เข็มความร้อน หรือ Radio Frequency (RF)
- การรักษาด้วยวิธี RF เป็นการใช้เข็มสอดผ่านผิวหนังเข้าไปในเนื้อ ปอดตรงบริเวณที่เป็นก้อนเนื้อ โดยอาศัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นตัวนำทาง โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือฉีดยานอนหลับร่วมด้วย จากนั้นจะทำให้พลังงาน RF ทำให้เกิดความร้อนซึ่งมีผลให้ก้อนมะเร็งตายลงทันที
- การรักษาวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้อที่ปอด ซึ่งอาจเกิดจากมะเร็งปอดหรือมะเร็งอื่นที่กระจายมาที่ปอด ซึ่งขนาดไม่เกิน 4 เซนติเมตร และไม่เกิน 3 จุด ที่ไม่สามารถทำการรักษาด้วยการผ่าตัดได้
อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธี RF อาจเป็นการรักษาร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การฉายแสงหรือการให้ยาเคมีบำบัด