เครื่องฉายรังสี Volumetric Modulated Arc Therapy
Share
VMAT รักษาตรงจุดมากขึ้น
VMAT เป็นเทคโนโลยีใหม่ในการฉายรังสีรักษา ซึ่งให้ปริมาณรังสีครอบคลุมก้อนมะเร็งได้ดี พร้อมทั้งสามารถลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการฉายรังสีโดนเนื้อเยื่อปกติให้น้อยลง
การฉายรังสีแบบ VMAT นี้ เครื่องฉายรังสีจะหมุนรอบตัวผู้ป่วยขณะทำการรักษา โดยสามารถปรับความเร็วของการหมุนและปรับเปลี่ยนรูปร่างเครื่องกำบังรังสีให้ครอบคลุมเฉพาะก้อนมะเร็งให้ได้มากที่สุด ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกกำหนดและคำนวณโดยเครื่องคอมพิวเตอร์วางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง โดยผู้ชำนาญการเฉพาะทาง
นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบภาพนำวิถีแบบ 3 มิติเข้ามาช่วยในการตรวจสอบตำแหน่งของก้อนมะเร็งในตัวผู้ป่วยก่อนการฉายรังสี ทำให้การรักษามีความถูกต้องชัดเจนมากขึ้น และด้วยคุณสมบัติพิเศษของอุปกรณ์ควบคู่ คือ เตียงปรับระดับแบบ 6 มิติที่ถูกควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถปรับองศาการนอนของผู้ป่วยให้สอดคล้องตรงจุดที่ถูกฉายรังสี มีความถูกต้องชัดเจนมากยิ่งขึ้น
VMAT ใช้เวลาน้อยลง
ในขณะเดียวกันการฉายรังสีแบบ VMAT สามารถลดระยะเวลาในการฉายรังสีในแต่ละครั้งลง 2 – 8 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับเทคนิคการฉายรังสีในปัจจุบันทั่วไป หากเปรียบเทียบกับเทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (IMRT) ในปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยต้องนอนฉายรังสีนานประมาณ 15 – 30 นาที แต่ด้วยเทคนิค VMAT สามารถฉายรังสีให้เสร็จสิ้นในเวลาเพียง 3 – 5 นาที ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องนอนบนเตียงนาน ยังเป็นการลดความผิดพลาดอันเกิดจากการขยับตัวของผู้ป่วย (Motion Error) หรือการขยับตำแหน่งของอวัยวะภายในร่างกาย ลดผลข้างเคียงต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้ ทั้งยังเพิ่มความสะดวกสบายและประหยัดเวลาในการรักษาของผู้ป่วย นอกจากนี้การรับรังสีน้อยลงยังส่งผลให้ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนของอวัยวะข้างเคียงอีกด้วย
VMAT รับรองโดยผลการวิจัยระดับสากล
ในการประชุมวิชาการประจำปี 2008 – 2009 ของสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Society for Therapeutic Radiology and Oncology) ได้มีการนำเสนอผลการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยเทคนิค VMAT อาทิเช่น งานวิจัยของโรงพยาบาล William Beaumont ประเทศสหรัฐอเมริกา ในผู้ป่วยมะเร็งปอด 6 ราย พบว่า สามารถฉายรังสีแก่ก้อนมะเร็งได้สูงกว่าหรือเทียบเท่ากับเทคนิคการฉายรังสีแบบทั่วไป อีกทั้งยังลดปริมาณรังสีที่อวัยวะสำคัญข้างเคียงได้ และยังใช้เวลาในการรักษาแต่ละครั้งลดลงถึง 13 นาที หรือคิดเป็นร้อยละ 59 เมื่อเทียบกับการฉายรังสีแบบทั่วไป ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้ป่วยมะเร็งปอดซึ่งนอนนิ่งไม่ได้นาน เพิ่มความสบายให้ผู้ป่วยมากขึ้น ทั้งยังช่วยลดความผิดพลาดจากการขยับตัวของผู้ป่วยด้วย