มองโรคแง่บวก
Share
เมื่อเอ่ยถึงมะเร็งหลายคนที่ได้ยินหรือตรวจพบว่าตนเองเป็นคงหวาดวิตกไปต่าง ๆ นานา ถ้าหากคุณได้เปลี่ยนความคิดหรือมองต่างมุมว่าได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์อย่างไรในการต่อสู้กับโรคต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ
คุณแอ้เป็นอีกคนที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเคยใกล้ชิดกับโรคนี้ เพราะในอดีตเธอคือผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทั้งที่แรกเริ่มเดิมที คุณแอ้คือเวิร์คกิ้งวูแมนที่เรียกได้ว่าใส่ใจและดูแลสุขภาพตนเองอย่างดีมาตลอด ทั้งการเลือกรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย อีกทั้งหมั่นตรวจเช็กสุขภาพทุกปี เธอจึงไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้ตนเองจะป่วยเป็นมะเร็ง
“แอ้ตรวจพบโรคนี้จากการตรวจสุขภาพประจำปี มีการทำอัลตราซาวนด์เจอก้อนที่ม้าม จึงมีการตรวจเช็กเพิ่มอย่างละเอียดหลังจากนั้นคุณหมอได้ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจจึงได้ทราบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง”
แม้จะนับว่าเป็นโชคดีที่ตรวจพบโรคนี้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น แต่ขึ้นชื่อว่ามะเร็ง หลายคนที่ต้องเผชิญหน้าย่อมวิตกกังวลและกลัวไปสารพัด คุณแอ้เองก็เช่นกัน เธอยอมรับว่ารู้สึกตกใจเมื่อทราบข่าวจากคุณหมอ
“ครั้งแรกที่รู้ตัวว่าป่วยก็ตกใจ แต่คิดว่าเราจะสู้กับมันได้ อาจเป็นด้วยนิสัยส่วนตัวของเราแต่เดิมที่หากเกิดอะไรยุ่งยากเข้ามาในชีวิตจะพยายามต่อสู้และเอาชนะมันให้ได้และแอ้มองว่านี่ไม่ใช่สุดท้ายของชีวิตเรา นอกจากการให้กำลังใจตัวเองแล้ว อีกหนึ่งพลังที่สำคัญมากคือกำลังใจจากคนรอบตัว ทั้งเพื่อนและคนในครอบครัว โดยเฉพาะสามี คุณณัฐที่คอยดูแลและอยู่เคียงข้างเสมอ พลังสุดท้ายคือด้วยความที่เป็นคนชอบปฏิบัติธรรมเลยทำให้รู้สึกว่าเราสามารถรับข่าวร้ายนี้ได้ด้วยการมีสติ”
คุณแอ้ยอมรับว่าการดำเนินชีวิตประจำวันหลังทำเคมีบำบัดครั้งแรกเต็มไปด้วยความเครียดและวิตกกังวลมากมาย กลัวการติดเชื้อโรคจนไม่อยากออกจากบ้าน หรือแม้กระทั่งเดินในสวนที่บ้านตัวเอง ไม่กล้าที่จะกินข้าวเพราะกลัวข้าวติดคอ และในหลาย ๆ ครั้งที่จินตนาการไปว่าตนเองเป็นคนอ่อนแอ
แต่ด้วยความตั้งมั่นที่จะหายจากโรคร้ายให้ได้ เธอจึงปฏิบัติตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด เรียกว่าบางอย่างทำเกินกว่าที่สั่งเสียด้วย ซึ่งผลของความตั้งใจดังกล่าว ทำให้การรักษาครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ แต่ในที่สุดแล้วเมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน เธอก็พบว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้กลับมาเยือนเธออีกเป็นครั้งที่สอง และการป่วยครั้งนี้นี่เองที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการปรับความคิดและมุมมองชีวิตของคุณแอ้
“บทเรียนจากการป่วยครั้งแรก ทำให้กลับมาทบทวนว่าการรักษาก่อนหน้านั้นเราทำไปด้วยความกดดัน เนื่องจากเรามีความมุ่งมั่นมากเกินไป ไม่ได้เดินสายกลาง ชีวิตอยู่กับความเครียด การรักษาครั้งนี้แอ้จึงเริ่มกลับมามีสมาธิอยู่ที่จิตใจโดยใช้หลักธรรมะเป็นตัวช่วย ไม่อยากใช้ชีวิตอย่างคนป่วยเป็นมะเร็ง แต่จะทำตัวเองให้มีความสุขทุกวัน เมื่อไรก็ตามที่เกิดความเครียดหรือความทุกข์ เราจะรู้ตัวเองและจะรีบปรับความรู้สึกให้กลับไปสู่ความสุขทันที”
คุณแอ้เริ่มทำการรักษาตามขั้นตอนอีกครั้ง ทั้งเข้ารับเคมีบำบัดและปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งยาที่ให้จะต้องแรงกว่าเดิม แต่ครั้งนี้เธอพยายามทำทุกอย่างให้เป็นธรรมชาติและลดความกดดัน จากเดิมที่ไม่กล้าแม้แต่จะสวมวิกหรือแต่งหน้าเพราะกลัวการติดเชื้อ คุณแอ้ให้สัญญากับตนเองใหม่ว่า ไม่ว่าจะป่วยแค่ไหนเธอก็ต้องดูดี เธอจึงหันกลับมาทำกิจกรรมทุกอย่างที่เคยกลัว ทั้งไปซื้อวิกผมใหม่ที่ร้าน ออกไปปั่นจักรยานนอกบ้าน หรือแอบชิมอาหารอร่อย ๆ ที่ตนเองชอบบ้างเป็นบางคราวนอกเหนือจากเมนูสุขภาพปรุงเองที่รับประทานกับสามีอยู่เป็นประจำ
คุณณัฐเสริมว่า นอกจากกำลังใจจากตัวผู้ป่วยเองแล้ว ส่วนหนึ่งที่ทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จคงเนื่องมาจากการได้ความดูแลเอาใจใส่ ทำให้คุณแอ้รู้สึกอุ่นใจ
“มะเร็งเป็นเพียงโรคโรคหนึ่งที่เราต้องรับมือกับมันและอย่าคิดว่าหากเป็นแล้วเราต้องเสียชีวิต คุณหมอพูดขึ้นมาประโยคหนึ่งว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะป่วยเป็นโรคนี้ เพราะฉะนั้นควรมองว่านี่เป็นโอกาสอย่างหนึ่ง และลองพิจารณาดูว่าเราจะสามารถมองหาข้อดีหรือประโยชน์จากการเป็นโรคนี้ได้อย่างไร ซึ่งการปรับความคิดให้เป็นบวกนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากในการต่อสู้กับมะเร็ง”
คุณแอ้ให้แง่คิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคิดและทัศนคติเชิงบวก ที่ช่วยให้เธอสามารถเอาชนะโรคร้ายนี้ได้แม้ต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานว่า
“ความคิดเป็นสิ่งที่มีพลัง โดยเฉพาะความคิดเชิงบวกนั้นมีพลังมากกว่าความคิดเชิงลบมากมายมหาศาล เมื่อไรก็ตามที่คิดลบไปเยอะ ๆ ให้เรารีบดึงตัวเองกลับมาสู่ความคิดบวกทันที ตัวแอ้เองวันที่เข้าห้องปลอดเชื้อวันแรกและรู้ตัวว่าจะต้องอยู่ในห้องนี้ 1 เดือนเต็มไปไหนไม่ได้ ก็จะใช้จินตนาการเชิงบวกบอกกับตัวเองว่า ปลายเดือนพฤษภาคมจะเป็นวันที่ฉันลุกขึ้นจากเตียง และแต่งตัวออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับบ้านด้วยความแข็งแรง ซึ่งในที่สุดแอ้ก็สามารถทำได้จริง ๆ ”
ผลพลอยได้จากการป่วยเป็นมะเร็งครั้งนี้เป็นโอกาสที่ทำให้คุณแอ้เข้าใจถึงคำสอนในศาสนาพุทธที่ว่าด้วยเรื่องความทรมานจากทุกขเวทนาและสามารถนำหลักการของการเดินสายกลางที่ก่อนหน้านี้มีโอกาสเรียนรู้เพียงแค่ทฤษฎี แต่ไม่เคยเข้าใจถึงความหมายอย่างถ่องแท้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ทั้งตัวคุณแอ้และคุณณัฐยังค้นพบกิจกรรมสร้างความสุขทางใจนั่นคือการอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง ซึ่งทำได้ไม่ยากผ่านการอัดคลิปเสียงลงไปในโทรศัพท์มือถือผ่าน application Read for the Blind ที่คุณณัฐเป็นคนคิดขึ้น ที่สำคัญ
คุณณัฐยังได้เปิดกลุ่มบนเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ‘ช่วยอ่านหน่อยนะ’ เพื่อระดมแรงใจจากอาสาสมัครชาวโซเชียลคนอื่น ๆ ในการช่วยเหลือแลกเปลี่ยนข้อมูลให้กับคนตาบอด เช่น การช่วยอ่านฉลากยา วันหมดอายุสินค้า หรือเอกสารต่าง ๆ เป็นการส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้กับผู้อื่นในระหว่างนอนรักษาตัวอยู่ที่ห้องปลอดเชื้อในโรงพยาบาล
“สมัยก่อนป่วยเราไม่เคยมานั่งลิสต์เลยว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข ในแต่ละวันเราคิดแค่ว่าทำยังไงถึงจะเรียนเก่ง ทำยังไงถึงจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทำยังไงถึงจะได้เงินเยอะ ๆ เหมือนชีวิตที่ผ่านมาถูกผลักดันด้วยการยอมรับของสังคม เท่านั้น ไม่เคยมีอะไรที่เราต่อสู้เพื่อความสุขของตัวเอง”
และเมื่อการรักษาครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นลงซึ่งให้ผลที่ดีตามที่คุณหมอตั้งใจไว้ การรักษาทั้งสองครั้งทำให้ทั้งร่างกายและจิตใจของเธอเปลี่ยนไป ทุกวันนี้คุณแอ้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปกับการทำบุญและดูแลคนรอบข้าง จากที่เคยคุยกับคุณพ่อเพียงอาทิตย์ละครั้ง ก็เปลี่ยนมาโทรทุกวัน และหาความสุขจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัว อาบน้ำก็ขอมีเพลงฟัง หรือการเดินเล่นในสวนแค่นั้นก็มีความสุขแล้ว
ทราบถึงเรื่องราวในการเอาชนะโรคและเอาชนะใจตนเองของคุณแอ้ไปแล้ว เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอีกหนึ่งบุคคลที่นับว่ามีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้คุณแอ้กลับมามีสุขภาพแข็งแรงดังเดิมได้ก็คือคุณหมอเจ้าของเคส ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์โลหิตวิทยา โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ คุณหมอได้กรุณาให้ข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งโลหิตวิทยาหรือมะเร็งระบบเลือดไว้อย่างน่าสนใจ
“มะเร็งระบบเลือดนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 โรคใหญ่ ๆ ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) และมะเร็งไขกระดูก (Multiple Myeloma-MM) โดยมะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้นเกิดจากความผิดปกติของตัวอ่อนเม็ดเลือดขาวที่มีการเพิ่มจำนวนอย่างไม่มีขีดจำกัดจนมีจำนวนมากเกินไป ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายได้ว่ามีสาเหตุโดยตรงมาจากอะไร แต่คาดว่ามีความเกี่ยวพันจากการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น อยู่ใกล้เสาไฟฟ้าแรงสูง เกิดจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีปริมาณมาก โดยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบ่งเป็น 2 ชนิด ชนิดเรื้อรัง และเฉียบพลัน ซึ่งชนิดเฉียบพลันจะมีความรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตภายใน 3 – 6 เดือน จากการติดเชื้อและเลือดออกผิดปกติ
ส่วนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่เกิดกับเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองซึ่งกระจายอยู่ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณลำคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขน ข้อพับขา ในช่องอก และในช่องท้อง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดเช่นกัน อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด อาการที่พบได้ในระยะต้น ๆ คือ มีต่อมน้ำเหลืองโต มักคลำพบที่ลำคอ และเมื่อโรคลุกลามอาจมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ และน้ำหนักลดร่วมด้วย ส่วนมะเร็งไขกระดูก MM ก็เหมือนมะเร็งสองชนิดที่กล่าวมาแล้วคือ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่อาจเกี่ยวโยงกับการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมี อาการของโรคที่พบได้คือ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ติดเชื้อง่าย เนื่องจากการเพิ่มจำนวนของพลาสมาเซลล์ที่ผิดปกติในไขกระดูกจนไปรบกวนกระบวนการสร้างเม็ดเลือดต่าง ๆ อีกทั้งมีการสร้างโปรตีนผิดปกติ (M Protein) ในเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความผิดปกติที่ไตได้ นอกจากนี้ยังสามารถพบอาการกระดูกพรุน ซึ่งเกิดจากเซลล์มะเร็งปล่อยสารบางชนิดที่ทำให้แคลเซียมละลายออกมาจากกระดูก ทำให้มีอาการปวดกระดูก กระดูกผุ หรือกระดูกหักได้ง่าย โดยแคลเซียมที่ละลายออกมายังทำให้ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เกิดอาการซึม ท้องผูก และเป็นผลเสียต่อไตร่วมด้วย”
ปัจจุบันการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Hematopoietic Stem Cell Transplantation) เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในการรักษามะเร็งระบบเลือด โดยมีกระบวนการนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ซึ่งได้มาจากเลือดหรือไขกระดูกมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยโดยการให้ทางหลอดเลือดดำ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนี้จะสามารถเคลื่อนตัวเข้าไปในโพรงกระดูก มีการแบ่งตัวและสร้างเม็ดเลือดใหม่ได้
โดยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ระยะก่อนปลูกถ่าย มีการให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงร่วมกับยากดภูมิคุ้มกัน ทำให้จำนวนเม็ดเลือดขาวลดลงอย่างมากและเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อรุนแรง ผู้ป่วยต้องอยู่ในห้องปลอดเชื้อตลอดการรักษา ขั้นตอนต่อมาคือ ระยะปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด โดยนำเซลล์ต้นกำเนิด เม็ดเลือดมาให้ทางหลอดเลือดดำ ระหว่างให้อาจพบอาการข้างเคียงได้บ้าง เช่น แน่นหน้าอกเล็กน้อย หนาวสั่น ปวดมวนท้อง ท้องเสีย และปัสสาวะอาจมีเลือดปน ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายใน 12 ชั่วโมง ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือ ระยะหลังปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้ได้แก่ การติดเชื้อ เกล็ดเลือดต่ำ ทำให้มีเลือดออก ซีด มีแผลในปาก ผมร่วง ผิวแห้ง หรือมีภาวะไขกระดูกต่อต้านผู้ป่วย โดยในปัจจุบันสามารถหาเซลล์ต้นกำเนิดได้จากพี่น้องที่มีบิดามารดาเดียวกัน หรือจากผู้บริจาคที่มีลักษณะทางพันธุกรรมจากการตรวจ HLA (Human Leukocyte Antigen) เหมือนกัน หรืออาจใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของตัวผู้ป่วยเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโรคที่ผู้ป่วยเป็น
“จากในกรณีคุณแอ้ คนไข้มาพบแพทย์เนื่องจากพบก้อนในม้ามจากผลการตรวจชิ้นเนื้อพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจึงให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดซึ่งทำให้โรคสงบอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาโรคได้กลับมาอีกจึงต้องให้เคมีบำบัดอีกครั้งร่วมกับการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองส่วนใหญ่จะใช้วิธีปลูกถ่ายโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตนเอง (Autologous BMT) โดยแพทย์จะทำการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากตัวผู้ป่วยแล้วนำไปแช่แข็งไว้ในไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -196 Cํ จากนั้นจึงให้กลับไปในตัวผู้ป่วย
หลังจากผ่านการให้เคมีบำบัดอย่างแรงไปแล้ว เซลล์ต้นกำเนิดหรือเซลล์ในไขกระดูกที่ปลูกใหม่จะเป็นตัวผลิตเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดแทนที่ไขกระดูกที่ถูกทำลาย ส่วนในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะใช้วิธีรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากพี่น้องหรือผู้บริจาคคนอื่น (Allogeneic BMT) ซึ่งวิธีนี้อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าการปลูกถ่ายโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตัวเอง”
แม้ปัจจุบันโรคมะเร็งจะไม่น่ากลัวเหมือนในอดีตที่ผ่านมาเนื่องจากมีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาเป็นตัวช่วยรักษาแต่สิ่งหนึ่งที่คุณหมอกล่าวย้ำว่าควรให้ความสำคัญมากที่สุด นั่นคือการปรับทัศนคติทั้งของตัวผู้ป่วยและคนรอบข้างเอง
“เมื่อรู้ว่าป่วยเป็นมะเร็ง สิ่งแรกที่ควรทำคือให้กำลังใจตนเอง ผมจะบอกทั้งคนไข้และครอบครัวของคนไข้เสมอว่า เราต้องไม่กลัวและต้องมั่นใจว่าเราจะหาย หรือแม้ไม่หายขาด ก็มียาที่สามารถควบคุมให้โรคสงบลงได้ แม้ระหว่างรักษาอาจมีผลข้างเคียงอยู่บ้างในระยะที่ให้เคมีบำบัด แต่สักพักร่างกายของเราก็จะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้เหมือนเดิม”
“มะเร็งเป็นโรคหนึ่งที่เราต้องรับมือ ต้องสู้กับมัน มีขั้นตอนในการรักษาเป็นสเตป
ซึ่งจริง ๆ แล้วการป่วยเป็นเรื่องธรรมชาติ
เพียงแค่เมื่อเป็นแล้ว อย่าปล่อยให้แค่ผ่านไป
แต่ให้เรียนรู้ว่าเราได้อะไรจากมันบ้าง
เมื่อเป็นเร็วเราก็มีการเรียนรู้ทั้งจากโรคและจากประสบการณ์ชีวิตได้เร็วขึ้น”