ความรู้โรคมะเร็ง
โรคมะเร็ง (Cancer) พบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะพบในอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ส่วนในวัยเด็กพบน้อยกว่าในผู้ใหญ่ประมาณ 10 เท่า
โรคมะเร็งที่พบบ่อย
โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชาย ได้แก่
- มะเร็งตับ
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- มะเร็งช่องปาก
- มะเร็งกระเพาะอาหาร
- มะเร็งหลอดอาหาร
โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิง ได้แก่
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งตับ
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
- มะเร็งรังไข่
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- มะเร็งช่องปาก
- มะเร็งต่อมไทรอยด์
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
โรคมะเร็งที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- เนื้องอก/ มะเร็งสมอง
- มะเร็งนิวโรบลาสโตมา/ Neuroblas Toma (มะเร็งของประสาทซิมพาทีติก)
สัญลักษณ์โรคมะเร็ง
“ปู” เป็นสัญลักษณ์ของโรคมะเร็ง คำว่า มะเร็ง หรือ Cancer มาจากภาษากรีก คือ Carcinos ซึ่งแปลว่า ปู (Crab) เนื่องจากก้อนเนื้อมะเร็งมีลักษณะลุกลามออกไปจากตัวก้อนเนื้อเหมือนกับขาปูที่ออกไปจากตัวปู ซึ่งคนแรกที่ใช้ศัพท์นี้ คือ ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก
รู้จักโรคมะเร็ง
โรคมะเร็ง คือ โรคที่เกิดจากการมีเซลล์ผิดปกติในร่างกายและเซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตรวดเร็วเกินปกติ ร่างกายควบคุมไม่ได้ เซลล์เหล่านี้จึงเจริญลุกลามและแพร่กระจายทั่วร่างกาย ส่งผลให้เซลล์ปกติของเนื้อเยื่อ/ อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด ได้แก่ ปอด ตับ สมอง ไต กระดูก และไขกระดูก
รู้จักเนื้องอก
เนื้องอก คือ ก้อน ตุ่ม ที่โตขึ้นผิดปกติ เกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อในร่างกายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ เนื้องอกชนิดธรรมดาและเนื้องอกชนิดร้ายหรือมะเร็ง
รู้จักโรคเนื้องอก
โรคเนื้องอก ได้แก่ มีก้อนเนื้อผิดปกติ แต่โตช้า ไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/ อวัยวะข้างเคียง เพียงกดหรือเบียดเมื่อก้อนโตขึ้น ไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ไม่แพร่กระจายทางกระแสเลือดและทางกระแสน้ำเหลือง จึงเป็นโรคที่รักษาหายได้โดยการผ่าตัด
โรคมะเร็ง VS เนื้องอก
โรคมะเร็งต่างจากเนื้องอกตรงที่ก้อนเนื้อหรือแผลมะเร็งจะโตเร็วลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง เข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายเข้าหลอดเลือด กระแสเลือด และหลอดน้ำเหลืองหรือกระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยมักแพร่สู่ปอด ตับ สมอง กระดูก และไขกระดูก ดังนั้นโรคมะเร็งจึงเป็นโรคเรื้อรัง รุนแรง มีการรักษาที่ซับซ้อนและต่อเนื่อง
กระบวนการเกิดโรคมะเร็ง
เมื่อร่างกายได้รับสารก่อมะเร็ง เช่น สารเคมี ไวรัส รังสี สิ่งเหล่านี้จะทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงและในที่สุดเซลล์ปกติก็จะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ถ้าระบบภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถทำลายเซลล์นั้นได้ เซลล์มะเร็งก็จะแบ่งตัวอย่างรวดเร็วกลายเป็นก้อนมะเร็งต่อไป
สาเหตุโรคมะเร็ง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของโรคมะเร็ง แต่เชื่อว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งอยู่หลายปัจจัย ดังนี้
- สาเหตุจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย]
- สารเคมีบางชนิด เช่น
- สารเคมีในควันบุหรี่และเขม่ารถยนต์
- สารพิษจากเชื้อรา
- สารพิษที่เกิดจากเนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม
- สีย้อมผ้า
- สารเคมีบางชนิดที่เกิดจากขบวนการทางอุตสาหกรรม
- รังสีต่าง ๆ รวมทั้งรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด
- การติดเชื้อเรื้อรัง เช่น
- ไวรัสตับอักเสบชนิดบี มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งตับ
- ฮิวแมน แพพพิโลมา ไวรัส (Human Papilloma Virus หรือ HPV) อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งของเซลล์เยื่อบุต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก
- เอบสไตน์ บาร์ ไวรัส (Epstein Barr Virus) มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหรือมะเร็งโพรงหลังจมูก
- เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรัย (Helicobacter Pylori) มีความสัมพันธ์กับมะเร็งกระเพาะอาหาร
- พยาธิ เช่น พยาธิใบไม้ตับ มีความสัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดีในตับ
- สารเคมีบางชนิด เช่น
- สาเหตุภายในร่างกาย
- กรรมพันธ์ุที่ผิดปกติ
- ความไม่สมดุลทางฮอร์โมน
- ภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง
- การระคายเคืองที่เกิดซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน
- ภาวะทุพโภชนาการ เป็นต้น
อาการน่าสงสัยว่าเป็นมะเร็ง
ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็ง แต่เป็นอาการเช่นเดียวกับการอักเสบของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง โดยที่แตกต่างคือ มักเป็นอาการที่แย่ลงเรื่อย ๆ และเรื้อรัง ดังนั้นเมื่อมีอาการต่าง ๆ นานเกิน 1 – 2 สัปดาห์ จึงควรรีบพบแพทย์ อย่างไรก็ตามอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นมะเร็ง ได้แก่
- มีก้อนเนื้อโตเร็วหรือมีแผลเรื้อรัง ไม่หายภายใน 1 – 2 สัปดาห์หลังจากการดูแลตนเองในเบื้องตัน
- มีต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ มักจะแข็ง ไม่เจ็บ และโตขึ้นเรื่อย ๆ
- ไฝ ปาน หูดที่โตเร็วผิดปกติหรือเป็นแผลแตก
- หายใจหรือมีกลิ่นปากรุนแรงจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- เลือดกำเดาออกเรื้อรัง มักออกเพียงข้างเดียว (อาจออกทั้งสองข้างได้)
- ไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือด
- มีเสมหะ น้ำลาย หรือเสลดปนเลือดบ่อย
อาการโรคมะเร็ง
- อาเจียนเป็นเลือด
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- ปัสสาวะบ่อย ขัดลำ ปัสสาวะเล็ด โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
- อุจจาระเป็นเลือด มูก หรือเป็นมูกเลือด
- ท้องผูกสลับท้องเสีย โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
- มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หรือมีประจำเดือนผิดปกติ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น อึดอัดท้อง โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
- มีไข้ต่ำ ๆ หาสาเหตุไม่ได้
- มีไข้สูงบ่อย หาสาเหตุไม่ได้
- ผอมลงมากใน 6 เดือน น้ำหนักลดลงจากเดิม 10%
- มีจ้ำห้อเลือดง่ายหรือมีจุดแดงคล้ายไข้เลือดออกตามผิวหนังบ่อย
- ปวดศีรษะรุนแรงเรื้อรัง หรือแขน/ ขาอ่อนแรง หรือชักโดยไม่เคยชักมาก่อน
- ปวดหลังเรื้อรังและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจร่วมกับแขน/ ขาอ่อนแรง
วินิจฉัยมะเร็ง
การวินิจฉัยโรคมะเร็งมีหลายวิธี เช่น
- การตรวจร่างกายด้วยตนเองและโดยแพทย์
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ และเสมหะ
- การตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
- การตรวจทางรังสี เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การเอกซเรย์เฉพาะอวัยวะ และการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์
- การตรวจโดยใช้เครื่องมือพิเศษส่องกล้องโดยตรง เช่น การตรวจลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก กระเพาะอาหารและลำคอ เป็นต้น
- การตรวจพิเศษอื่น ๆ
ระยะของมะเร็ง
ระยะโรคมะเร็ง คือ ตัวบอกความรุนแรงของโรค (การลุกลามและแพร่กระจาย) บอกแนวทางการรักษา และแพทย์ใช้ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง
โดยทั่วไปโรคมะเร็งมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 – 4 ซึ่งทั้ง 4 ระยะ อาจแบ่งย่อยได้อีกเป็นอีกเป็น เอ (A) บี (B) หรือ ซี (C) หรือ เป็น (1) หรือ (2) เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยประเมินการรักษา ส่วนโรคมะเร็งระยะศูนย์ (0) ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะเซลล์เพียงมีลักษณะเป็นมะเร็ง แต่ยังไม่มีการรุกราน (Invasive) เข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง
- ระยะที่ 1 : ก้อนเนื้อ/ แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลาม
- ระยะที่ 2 : ก้อน/ แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อ/ อวัยวะ
- ระยะที่ 3 : ก้อน/ แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/ อวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อ/ อวัยวะที่เป็นมะเร็ง
- ระยะที่ 4 : ก้อน/ แผลมะเร็งขนาดโตมาก และ/ หรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/ อวัยวะข้างเคียง จนทะลุ และ/ หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง โดยพบต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้ และ/ หรือมีหลากหลายต่อม และ/ หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต และ/ หรือ หลอดน้ำเหลือ / กระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อ/ อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ไขกระดูก ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ในช่องอก และ/ หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า
รักษามะเร็ง
การตรวจพบโรคมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกย่อมเป็นผลดีต่อการรักษา ซึ่งวิธีการรักษามีดังต่อไปนี้
- การผ่าตัด การเอาก้อนที่เป็นมะเร็งออกไป
- รังสีรักษา การให้รังสีกำลังสูงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
- เคมีบำบัด การให้ยา (สารเคมี) เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
- ฮอร์โมนบำบัด การใช้ฮอร์โมนเพื่อยุติการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
- การรักษาแบบผสมผสาน การรักษาร่วมกันหลายวิธีดังกล่าวข้างต้น แต่จะใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค
การรักษาโรคมะเร็งอาจเป็นวิธีใดวิธีเดียวหรือหลายวิธีร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ
- ระยะโรค
- ชนิดของเซลล์มะเร็ง
- เป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อ/ อวัยวะใด
- ผ่าตัดได้หรือไม่ หลังผ่าตัดยังคงหลงเหลือก้อนมะเร็งหรือไม่
- ผลพยาธิวิทยาชิ้นเนื้อหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร
- อายุ
- สุขภาพผู้ป่วย
โรคมะเร็งเป็นโรคที่รักษาหายได้ แต่ทั้งนี้โอกาสรักษาหายขึ้นอยู่กับ
- ระยะโรค
- ชนิดเซลล์มะเร็ง
- ผ่าตัดได้หรือไม่ ถ้าผ่าตัดได้สามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้ทั้งหมดหรือไม่
- มะเร็งเป็นชนิดดื้อต่อรังสีรักษา และ/ หรือ ยาเคมีบำบัด และ/ หรือ ยารักษาตรงเป้าหรือไม่
- อายุ
- สุขภาพผู้ป่วย
ในภาพรวมโดยประมาณ อัตราอยู่รอดที่ 5 ปี (โอกาสรักษามะเร็งได้หาย) ภายหลังการรักษาโรคมะเร็ง คือ
โรคระยะ | % |
โรคระยะ 0 | 90 – 95 % |
โรคระยะที่ 1 | 70 – 90 % |
โรคระยะที่ 2 | 70 – 80 % |
โรคระยะที่ 3 | 20 – 60 % |
โรคระยะที่ 4 | 0 – 15 % |
ทางเลือกอื่น (Alternatives)
เนื่องจากโรคมะเร็งส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่มะเร็งบางตำแหน่งสามารถทราบสาเหตุนำหรือสาเหตุร่วม ซึ่งอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นทุกคนควรจะต้องตรวจ สำรวจร่างกายของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หรือถ้าพบอาการผิดปกติก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง คือ การตรวจให้พบโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะยังไม่มีอาการ (มักเป็นมะเร็งในระยะ 0 หรือระยะ 1) ทั้งนี้เพราะโรคมะเร็งในระยะนี้มีโอกาสรักษาได้หายสูงกว่าโรคมะเร็งในระยะอื่น ๆ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ คือ การตรวจที่เมื่อพบโรคแล้ว ภายหลังการรักษาผู้ป่วยจะมีอัตรารอดจากมะเร็งสูงขึ้นหรือมีอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลดลงนั่นเอง
ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ คือ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่
ป้องกันโรคมะเร็ง
วิธีป้องกันโรคมะเร็งที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ ซึ่งที่สำคัญ คือ
- กินอาหารมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ทุกวันในปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่ให้อ้วนหรือผอมเกินไป โดยจำกัดเนื้อแดง แป้ง น้ำตาล ไขมัน เกลือ แต่เพิ่มผัก ผลไม้ให้มาก ๆ
- ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพสม่ำเสมอ
- เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง/ การตรวจสุขภาพประจำปี
- หลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง
สัญญาณอันตราย 7 ประการ
สัญญาณอันตราย 7 ประการที่ควรรีบมาพบแพทย์ ได้แก่
- มีเลือดหรือสิ่งผิดปกติออกจากร่างกาย เช่น มีตกขาวมากเกินไป
- มีก้อนหรือตุ่มเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนนั้นโตเร็วผิดปกติ
- มีแผลเรื้อรัง
- มีการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิม
- เสียงแหบ ไอเรื้อรัง
- กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- มีการเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปาน เช่น โตผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์